**ภาพประกอบจาก internet
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 …. สมาพันธ์เครือข่าย NCD ประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ สังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส และคณะ เพื่อให้มีมาตรการกำกับ ป้องกัน และควบคุมการตลาดและโฆษณาอาหารหวาน มัน เค็มปริมาณสูง ในเด็กและผู้ใหญ่
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและประธานสมาพันธ์เครือข่าย NCD ประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะโภชนาการของเด็กเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ในปัจจุบัน เด็กไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างมีสุขภาพดีและเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหาร และ เครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง แต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ อาทิ ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาหารจานด่วน และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพอย่างชัดเจน ในปัจจุบันพบว่าเด็กมีพฤติกรรมบริโภคอาหารหวานเพิ่มขึ้น และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้น ในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 1-5 ปี เพิ่มขึ้นจาก 5.8 ในปี 2538 เป็นร้อยละ 11.4 ในปี 2557 และกลุ่มเด็กวัยเรียนและก่อนวัยรุ่น เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 13.9 ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังพบ ผู้ป่วยเด็กเบาหวานจากโรคอ้วนเมื่ออายุเพียง 7 ปี
เด็กเป็นกลุ่มเปราะบางแต่เป็นกลับเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด จากการที่เด็กขาดข้อมูลความรู้ ขาดความสามารถในการตีความและวิเคราะห์ ทำให้ไม่สามารถแยกแยะและเข้าใจเนื้อหาและกระบวนการชักจูงใจ8 และมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนจึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการขยายฐานลูกค้า และตกเป็นเหยื่อของกลยุทธ์ทางการตลาดหลากหลายช่องทางการสื่อสารแบบเดิม ผ่านการโฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา ช่องทางใหม่ผ่านทางเครือข่าย Internet การส่งเสริมการขายรูปแบบต่าง ๆ เช่น ชิงโชค แถมพก หรือการสนับสนุนกิจกรรมหรือการกีฬาผ่านทางสถานศึกษา รวมถึงการใช้เด็กเป็นผู้โฆษณาสินค้า
รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาพันธ์เครือข่าย NCD ประเทศไทย เสนอว่าเพื่อให้เด็กไทยได้รับการคุ้มครองด้านโภชนาการที่เหมาะสม ตามหลักสิทธิเด็กสากล เครือข่ายจึงได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้ 1) ติดตามการบังคับใช้ พัฒนา และทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านเด็กและเยาวชน การกำกับการโฆษณาและการตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารหวาน มัน เค็ม ปริมาณสูง ผ่านสื่อต่างๆ 2) การส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดมาตรการกำกับการตลาดและโฆษณาอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก 3) การปรับปรุงกฎหมาย และมาตรการกำกับการตลาดด้วยวิธีการเสี่ยงโชค ของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง โดยยึดหลักการคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็ก
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมมาธิการสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณการทำงานของเครือข่ายด้านสาธารณสุขที่ได้ติดตามสถานการณ์โรค NCDs ผลกระทบต่อเด็ก และมีข้อเสนอมาตรการที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับแนวทางของสากล คณะกรรมาธิการยินดีฯ รับข้อเสนอจากเครือข่ายฯ และจะตั้งกระทู้ถามต่อรัฐบาล และประสานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อพูดคุยติดตามการดำเนินงานในการกำหนด มาตรการกำกับ ป้องกัน และควบคุมการตลาดและโฆษณาอาหารหวาน มัน เค็มปริมาณสูง ในเด็กและผู้ใหญ่ ต่อไป
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ทีมวิชาการ คุณสุมนมาลย์ สิงหะ
โทร. 0 22511 3452-55 ต่อ 122 อีเมล : sumonmarn@thainhf.org