นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์
2558
คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย ถ้าทุกคนสามารถหาเหตุผล หรือ เข้าใจการกระทำที่ดูไร้เหตุผลของคนอื่นได้
เด็กหนุ่มจากครอบครัวฐานะดี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง พร้อมก้าวสู่อนาคตที่สดใส ตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง ออกเดินทางหาชีวิตที่เขาเชื่อว่าใช่ เป้าหมายในฝันคือป่าอลาสก้า บอกกล่าวคนไม่กี่คน แล้วก็หายไปเลย จนกระทั่งมีคนพบศพอยู่ในซากรถบัสเก่า กลางป่าอลาสก้า
หลายคนสรุปว่า เขาเข้าป่า เพราะผิดหวัง สังคมรอบตัว มีแผลในชีวิตส่วนตัวเขาตั้งใจเข้าป่าฆ่าตัวตาย
มองจากมุมทางจิตวิทยา นั่นเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนที่อยู่ข้างหลัง ผู้คนที่มีชีวิตผูกพันกับเขามาเป็นเวลานาน เสียดายและเสียใจกับการจากไป ของเด็กหนุ่ม
อย่างน้อยทุกคนก็ไม่ต้องมานั่งครุ่นคิด ถกเถียง หรือหาคำอธิบายว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้หนุ่มน้อยอนาคตไกล ตัดสินใจทำอะไรที่ดูไร้เหตุผลขนาดนั้น
เรื่องราวที่แท้จริงของ คริสโตเฟอร์ เจ แมคแคนด์เลส ลูกชายนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซา นักศึกษาเกรดเอมหาวิทยาลัยเอโมรี ที่ต้องจบชีวิตในวัย 25 ปี กลางป่าอลาสก้า ด้วยสาเหตุขาดอาหาร ถูกนำมาเล่าโดยนักเขียนหนุ่ม จอน คราคาวเออร์ ผู้อายุน้อยกว่าคริสเพียง 1 ปี ด้วยความเข้าอกเข้าใจ แกมวิพากษ์ เปรียบเทียบกับ ความคิด พื้นฐานครอบครัว และประสบการณ์บ้าดีเดือดของตัวเอง กลายเป็นหนังสือขายดี ที่มีสาระชวนติดตาม นำไปครุ่นคิด เพื่อเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้คนรอบข้าง และมองโลกในมุมใหม่ ไม่ว่าจะเป็น คนที่ต้องการสร้างครอบครัวที่เข้มแข็ง อยากเห็นลูกก้าวหน้าได้ดี หรือคนที่กำลังสับสน ไม่ลงตัวกับการตามหาชีวิตในฝัน หรือแม้กระทั่งคนที่คิดว่า รู้จัก เข้าใจ และได้ข้อสรุปสำหรับชัวิตแล้ว
ผมรู้เรื่องราวของคริส เมื่อหลายปีก่อน ผ่านการดูหนัง ชื่อเดียวกับหนังสือ Into the wild ที่จัดเป็นหนังโด่งดัง มากพลังจนได้คะแนนติดอันดับ 1 ใน 500 หนังดีของ IMDB อันเป็นเวปไซต์ภาพยนตร์ที่มีแฟนจากหลากหลายประเทศ ได้คะแนนจากแฟนๆเฉลี่ย 8.2/10 จากคนดูกว่า 3 แสนคน และยังได้คะแนนจากเครือข่ายนักวิจารณ์ฝีปากกล้าเฉลี่ยที่ 73 คะแนน จากการรวบรวมของเวปไซต์ metacritics ที่ยากจะมีหนังได้คะแนนเฉลี่ยเกิน 70/100 โดยนักวิจารณ์ปากกาคมที่เพิ่งเวียชีวิตเมื่อ2 ปีก่อน อย่างโรเจอร์ อีเบิร์ต เทใจให้คะแนนเต็มร้อย ชื่นชมทั้งผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้ประพันธ์หนังสือ
ฌอน เพนน์ คือผู้กำกับที่ทำให้หนังเรื่องนี้ สามารถสื่อสารความรู้สึกของทั้งผู้เขียน และเจ้าของเรื่องราว อย่างคริสโตเฟอร์ แถมด้วยการตีความที่น่าสนใจ ความที่ตัวเองเป็นนักแสดงผู้แหวกขนบปากกล้า ชอบแสดงจุดยืนทางการเมือง วิพากษ์สังคม บางครั้งใช้ความรุนแรง กับผู้คนที่มาสร้างความไม่พอใจเป็นหัวก้าวหน้าที่มีทั้งคนชอบและคนชัง ขณะสร้างหนังเรื่องนี้ อายุขึ้นต้นเลข 5 เห็นชีวิตมามาก ทำให้หนังมีความนุ่มนวล อบอุ่น คู่ขนานไปกับการมองชีวิต มองสังคมด้วยท่าทีตั้งคำถาม
เรื่องราวชีวิตของคริส ดูจะมีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง (จากคำบอกเล่าของ จอน คราคาวเออร์ ผู้เขียนหนังสือ)หนังเรื่องจึงกลายเป็นพื้นที่ สะท้อนตัวตน และเป็นเวลาสำรวจตัวเองของ ฌอน เพนน์ ทำให้หนังเต็มไปด้วย “สาร” ที่คนดูจะสามารถเลือกเก็บได้ตามแต่ภูมิหลังของแต่ละคน
ไม่ต่างจากจอน คราคาวเออร์ ผู้ประพันธ์ ที่มีความผูกพันกับเรื่องราวของคริส หลังจากถูกส่งให้ไปหาข้อมูล เขียนบทความยาว 9000 คำลงตีพืมพ์ในนิตยสาร outsiders ตามหน้าที่แล้วเขาก็ยังคิดวนเวียน อยากเจาะลึกเรื่องราวของคริส ไม่นับว่าบทความนี้นำพาจดหมายจากผู้อ่านเข้าสู่กองบรรณาธิการนิตยสารมากกว่าทุกบทความที่เคยตีพิมพ์มาก่อน แถมยังเต็มไปด้วยมุมมองที่ขัดแย้ง ทั้งชื่นชมและเห็นต่าง กับสิ่งที่คริสทำ
เมื่อออกเดินทาง หาข้อมูล พร้อมรับรู้ประสบการณ์บางอย่าง ในการเดินทางของคริส จนกลายเป็นหนังสือฉบับนี้ เขาก็อดไม่ได้ ที่จะเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเอง ซึ่งผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งในจิตใจ จนนำไปสู่การกระทำเสี่ยงตาย ที่เกือบทำให้พบชะตากรรม อย่างเดียวกับคริส เพียงแต่เขาโชคดีกว่าที่รอดชีวิตมาได้ เปิดโอกาสให้เขาครุ่นคิดถึง ทำความเข้าใจกับความไม่พอใจในส่วนลึกของจิตใจ จนมีโอกาสเปลี่ยนความโกรธ ความกลัวเป็นความเห็นอกเห็นใจ รู้ซึ้งถึง “ความประมาทและความปั่นป่วนของจิตวิญญาณ อันเป็นผลจากความสัมพันธ์อันลักลั่นที่มีกับพ่อ” (ท้ายบทที่ 15) ที่เขาเชื่อว่า มีอยู่ในตัวคริส และเขาเหมือนๆกัน
เรื่องราว ความสัมพันธ์ และความคิด ความรู้สึกของคริสที่พาให้เขา เข้าป่าหาชีวิต รวมกับเรื่องราวของ จอน (บทที่ 15) ไม่ใช่เรื่องราวที่มีลักษณะเฉพาะ จนกลายเป็นเหมือนนิทานที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษ แต่มีลักษณะร่วมที่อาจรับรู้ ประสบได้โดยทั่วไป ชวนให้ถามตัวเอง สำหรับทุกครอบครัว และโดยเฉพาะสำหรับคนหนุ่มสาว ที่รู้สึกว่า ที่เป็นอยู่ยังไม่ใช่
เอาเข้าจริงๆ คริสไม่ได้มุ่งหน้าเข้าป่า ปลีกวิเวก หรือแยกตัวออกจากโลก ตรงกันข้ามเขาเลือกที่จะใช้ชีวิต พบปะคลุกคลีกับผู้คนที่หลากหลาย ต่างจากชีวิตสุขสบาย แต่จำเจที่มีพ่อแม่มาคอยห่วงใย ดูแลความสะดวกสบายไปทุกฝีก้าว (แม้ความจริงจะไม่ได้มากขนาดนั้น)
การได้อ่านเรื่องราวของคริส ที่จอนเลือกมาเล่า ทั้งส่วนของความสัมพันธ์ในครอบครัว กับช่วงออกตามหาชีวิต จึงเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งในแง่ทำความรู้จักกับตัวเอง ทำความรู้จักกับ ความเป็นจริงในสังคมที่เต็มไปด้วยตัวละครหลากรส เป็นโอกาสตรวจสอบความคิด ทัศนคติที่มีต่อโลกของผู้อ่านแต่ละคน
ในแง่การสื่อสาร โดยเฉพาะบอกเล่าความรู้สึก หนังมีข้อได้เปรียบที่จะใช้ภาพ สื่อความหมายบางอย่าง ภาพท้องทุ่งกว้างใหญ่ทางตอนใต้ ภูเขาและป่าอลาสกาที่มีหิมะปกคลุม ท้าทายคนดูให้ถามตัวเองว่า หากเป็นเราจะหลงเสน่ห์ จนอยากไปใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ อย่างที่คริสอยากและได้ และลงมือทำตามความฝัน หรืออยากกำหนดความสัมพันธ์แบบผิวเผิน ในฐานะนักท่องเที่ยว อย่างที่เราคุ้นเคย
โดยทั่วไปหนังจะมีจุดอ่อนเทียบกับหนังสือ ในการถ่ายทอดความคิดของตัวละคร รวมทั้งมุมมองของผู้ประพันธ์ แต่ ฌอน เพนน์ ใช้สารพัดเทคนิค ตั้งแต่เสียงพูดแบคกราวด์ ทั้งของพี่สาว รวมทั้งเสียงคริสเอง จนบางครั้งก็สร้างบทสนทนากับตัวเอง สะท้อนความรู้สึกที่คริสมีต่อพ่อ นอกจากเสียงหนังยังใช้ตัวหนังสือในหลายฉาก เป็นลายมือใน จม คริสที่มีถึงผู้คนใจดีที่เขาเจอระหว่างทางข้อความแกะสลัก หรือแม้กระทั่งบันทึกในสมุด และที่ดูจะเป็นเครื่องมือสำคัญ คือเพลงเพราะๆ มาเสริมเติมแต่งให้หนังมีความลึก มากกว่าเพียงการใช้ภาพ และบทสนทนามาเล่าเรื่องการเดินทาง ทั้งข้างนอก และข้างในของชายหนุ่ม ค้นหาชีวิตที่มีความหมาย ห่างไกลจากสิ่งจอมปลอม ปรุงแต่งสารพัดที่พบเห็นจนสุดทน (ในความรู้สึกของเขา)
แน่นอนว่า การอ่านหนังสือให้ความรู้สึก และโอกาสซึมซับได้ดีกว่า สำหรับเรื่องราวชีวิต ที่มีหลากมุมให้ค้นหา และเรียนรู้ แต่อาจน่าเบื่อถ้าไม่สามารถสร้างความรู้สึกร่วม กระตุ้นคำถาม การตีความ และจินตนาการของคนอ่าน
ในขณะที่หนังเหมือนจะซ่อนชะตากรรมตอนจบของคริส ให้คนดูได้ตามลุ้นอาใจช่วย หนังสือกลับเริ่มด้วยการบอกจุดจบของตัวละคร โดยไม่ปิดบัง ให้ผลต่อคนอ่าน ต่างจากคนดูหนัง (ที่ไม่ได้อ่านหนังสือมาก่อน) เพราะคนอ่านเริ่มต้นอ่าน ด้วยคำถามสำคัญว่า อะไรทำให้เด็กหนุ่มอนาคตสดใส เอาชีวิตมาทิ้งกลางป่า อลาสกา ส่วนคนดูหนังคงใช้เวลา ซึมซับประสบการณ์ชีวิตของผู้คนหลากหลาย ที่คริสได้พบพานระหว่างทาง อาจมีบ้างที่เอาใจช่วยคริสให้พบคำตอบ จากการเข้าป่าหาชีวิตในครั้งนี้ กลับไป อ่อนโยนกับพ่อแม่ กับชีวิต ลดความรู้สึกผิดหวังรุนแรงที่มีกับสังคมรอบข้างพอเจอตอนจบ อาจถึงกับหัวเสีย หรือเสียดาย กับการลงทุนของคริส พร้อมอุทานว่า ช่างโง่อะไรเช่นนี้
ในฐานะคนที่ดูหนังมาก่อน โดยไม่ทราบชะตากรรมของคริสในตอนจบ แล้วได้มีโอกาสมาอ่านหนังสือ พร้อมกับดูหนังอีกรอบ หลังครั้งแรกราว 4 ปี อยากบอกว่า ความรู้สึกต่างกันมาก เห็นความแตกต่างของอรรรถรส และความหมายที่ได้จากสื่อทั้งสองประเภท
แม้จะชอบหนัง รู้สึกถึงพลังและความหมายที่ฌอน เพนน์ พยายามบอกกับเหล่าคนหนุ่มหัวรั้น ช่างฝันได้ชัดขึ้น ในการดูรอบสอง แต่ต้องยอมรับว่า จอน คราเคาเออร์ ใช้ความพยายาม ติดตามประสบการณ์ของคริส ใช้ชั้นเชิงสื่อความรู้สึกและเรื่องราวชีวิต ผู้คนที่คริสพานพบ อย่างเข้าใจ และเป็นกลาง ชวนคนอ่านตั้งคำถาม หาคำตอบ พร้อมกับรับรู้ถึงสัจธรรมแห่งชีวิต ของความสับสนในวัยเยาว์ ความดีและความจริงที่มีอยู่หลากหลาย และแตกต่างในโลก ท้าทายให้คนที่คิดว่าตัวเอง เป็นผู้ใหญ่รู้จักโลกมามาก หันมาถามตัวเองว่า ถ้าเรามีเวลาทำความรู้จัก และกล้าพอที่ลงมือรับรู้ เรียนรู้ และตั้งคำถามกับสิ่งที่พบและทำซ้ำซาก อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันจะดีกว่าไหม เหมือนบทสนทนาระหว่างคริสกับรอน ฟรานส์ ชายชราอายุ 80 ปี ในบทที่ 6
จะอ่านหนังสือเล่มนี้ เพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นแรงจูงใจสำหรับสิ่งที่คริสทำ และ จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงเรื่องน่าเศร้าอย่างที่เกิดกับตัวคริสกับครอบครัวของเขา ได้อย่างไร หรือจะอ่านเพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริง และวิธีการดำเนินชีวิตอย่างที่ควรเป็น ผ่านการตีความ บทสทนา และเรื่องราว ของผู้คนที่คริสได้พบเห็น และจอนตามไปเจาะลึก เพื่อร้อยเรียงให้คนอ่านได้เห็นภาพแจ่มชัดขึ้น แถมเชื่อมโยงกับ พฤติกรรม และความคิดของ จอนเอง ย่อมเป็นสิทธิที่ผู้อ่านจะเลือกเก็บเกี่ยว และถือเป็นความสามารถของผู้ประพันธ์ ที่เขียนหนังสือนี้ขึ้นจาก ความผูกพัน ที่เขามีต่อตัวละครที่แม้ไม่รู้จัก แต่ก็รู้สึกคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง
คริสออกเดินทางเพื่อหาชีวิตที่อยากได้ พร้อมกันก็ทำความรู้จักข้างในของตัวเอง จอนตามไปเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าต่อ จนกลายเป็นโอกาสทำความกระจ่างชัดกับชีวิตของตนเอง หากผู้อ่านจะได้ประโยชน์โดยนัยยะเดียวกันจากหนังสือเล่มนี้ย่อมเป็นเรื่องไม่แปลก แต่น่ายินดียิ่ง