โครงการรูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในภาคเอกชนของไทย : ความยืดหยุ่น ผลิตภาพ และการคุ้มครอง
รับผิดชอบโครงการโดย : ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร, ดร.ชฎาธาร โอษธีศ, นายวัชระ เพชรดิน, นางสาววิรัลพัชร มานิตศรศักดิ์ และ นางสาวนลัท จิลลานนท์ (วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
สนับสนุนทุนโดย : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
บริหารจัดการโดย : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจ้างงานผู้สูงอายุในหน่วยงานเอกชนที่ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 เพื่อให้ได้รูปแบบการทำงานจริงที่เกิดขึ้น และผลิตภาพการทำงานของผู้สูงอายุ รวมถึงศึกษาประเด็นการจ้างงานของผู้สูงอายุในมุมมองของนายจ้าง นโยบายของแต่ละหน่วยงานที่มีต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งใช้ข้อมูลหลักจากการเก็บแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาพบว่า การให้สวัสดิการหรือผลประโยชน์อื่นใดแก่การทำงานผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่นโยบายของบริษัท บางครั้งอาจขึ้นอยู่กับรูปแบบการจ้างงานด้วยว่าเป็นแบบเต็มเวลาหรือบางเวลา ซึ่งจะได้รับสวัสดิการหรือผลประโยชน์แตกต่างกัน ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้สูงอายุ พบว่า รูปแบบการทำงานบางเวลา-รายวัน เป็นรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม รองลงมาคือ แบบบางเวลา-รายเดือน เนื่องจากมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง สำหรับมิติของการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุกับเพื่อนร่วมงานนั้น ในภาพรวม ผู้ร่วมงานมีทัศนคติที่ค่อนข้างดีต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุสามารถให้คำปรึกษาทั้งการทำงานและการดำเนินชีวิต อีกทั้งช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่งานที่ต้องใช้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับลูกค้า
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลิตภาพการทำงานของผู้สูงอายุรายบุคคล ซึ่งคำนวณจากผลผลิตจากการทำงานและต้นทุนที่ใช้ทั้งทางตรงทางอ้อม พบว่า ส่วนใหญ่สามารถให้ผลิตภาพการทำงานที่ใกล้เคียงกับวัยแรงงานอื่นที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อแยกพิจารณาลึกลงไปในผลผลิตซึ่งประกอบด้วยประสิทธิภาพการทำงานกับทัศนคติ ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะมีประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าหรือเทียบเท่าแรงงานทั่วไป (ร้อยละ 57) แต่เมื่อพิจารณาด้านทัศนติการทำงานแล้ว โอกาสที่ผู้สูงอายุจะมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานมีมากกว่าแรงงานทั่วไป (ร้อยละ 68) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งงานของการบริการลูกค้า การให้ข้อมูลลูกค้า และคอลเซ็นเตอร์ที่เน้นการใช้ชุดทักษะด้านการสื่อสาร ประสานงาน รวมถึงชุดทักษะด้านทัศนคติการบริการในการทำงาน
ท้ายที่สุด การศึกษานี้ได้เสนอแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยอยู่บนพื้นฐานของการได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมทั้งในมิติของนายจ้างที่จ้างงานผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่ถูกจ้างงาน โดยสิ่งสำคัญอันดับแรกในการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ คือ เพิ่มประสิทธิภาพของ MOU ที่เหลือระยะเวลาอีกครึ่งทาง ให้มีการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน และหาแนวทางออกร่วมกัน และในขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลและการเข้าถึงฐานข้อมูลการจ้างงานผู้สูงอายุ ให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานผู้สูงอายุและนายจ้างอย่างแท้จริง
คำสำคัญ: รูปแบบการจ้างงานแบบไม่มาตรฐาน, ความยืดหยุ่นเชิงหน้าที่, ผลิตภาพการทำงานเชิงทักษะ, ผู้สูงอายุ, ภาคเอกชนของไทย