วันที่ 18 กันยายน  2561 เวลา 9.30-12.00 น
ณ ห้องประชุมชั้น 1 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ที่มา

โดยที่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย “ไขมันทรานส์” ในประเทศไทย  โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 มกราคม 2562  ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจในประเด็นการผลักดันนโยบาย และเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการระดับนานาชาติ (Global Action Plan for Prevention and Control of Non-Communicable Diseases (2013-2020)

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จึงได้เชิญ ศาสตราจารย์วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งให้ความสนใจศึกษาและผลักดันเรื่องไขมันทรานส์มาเป็นเวลานาน  และในกระบวนการนโยบายในครั้งนี้ ศาสตราจารย์วิสิฐ จะวะสิต เป็นนักวิจัยหลักในการดำเนินงานโครงการ “ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” เป็นผู้ให้ข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับผู้ทรงคุณวุฒิและท่านผู้สนใจในครั้งนี้

สรุปการจัดการไขมันทรานส์ในประเทศไทย

ประเทศไทยให้ความสนใจกับการจัดการไขมันทรานส์มาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี แต่จากการศึกษา พบว่า ไขมันทรานส์ส่วนใหญ่พบในอาหารกลุ่มเบเกอรี่ที่ใช้อบและทอด โดยมักใช้สูตรจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ราคาระดับกลางและสูง สำหรับในตลาดล่างผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ใช้น้ำมันมะพร้าว/น้ำมันปาล์มในการทอดกรอบมานานแล้ว จึงไม่มีปัญหากับอาหารทอดกรอบที่จำหน่ายในตลาดทั่วไป  สถานการณ์เรื่องไขมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของไทยจึงอยู่ที่การใช้ saturated fat และการใช้น้ำมันทอดซ้ำจนเกิดเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) มากกว่าการใช้ไขมันทรานส์ (ก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด) ในการประกอบอาหาร

ประเทศตะวันตกต่างให้ความสำคัญกับการใช้ไขมันทรานส์  โดยเฉพาะเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทย  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงเห็นเป็นโอกาสในการนำประเด็นไขมันทรานส์กลับมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง  มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศ Trans Fat Free ในที่สุด

การดำเนินงาน อย. เชิญประชุมผู้ประกอบการผลิตน้ำมัน/ผลิตภัณฑ์อาหาร ประมาณ 100 รายในประเทศ มาร่วมประชุมพิจารณาแนวทางจัดการเพื่อลดการใช้ไขมันทรานส์  พบว่ามีเพียง 3 โรงงานที่มีศักยภาพในการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมัน (Hydrogenation) เพื่อให้ไขมันเกิดความอิ่มตัวมากขึ้น  พร้อมกันนั้นพบว่าผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ของไทยเริ่มปรับสูตรลดการใช้ไขมันทรานส์เป็นเวลานานแล้วจนแทบไม่พบในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผลิตภัณฑ์ประเภทโดนัททอดที่ใช้สูตรจากต่างประเทศ เพียง 2 บริษัทที่ยังคงใช้สูตรต่างประเทศที่มีไขมันทรานส์

การประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าว พบว่าการลดการใช้ไขมันทรานส์น่าจะมีแรงต้านน้อย ปัญหาส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมรับทราบและแก้ไขล่วงหน้าแล้ว  การควบคุมจึงอยู่ที่การตรวจสอบการนำเข้า  ในส่วนของการนำไปใช้ ผู้ค้ารายย่อยไม่ได้รับผลกระทบเพราะสามารถใช้ไขมันประเภทอื่น (ไขมันปาล์ม/มะพร้าว)ทดแทนไขมันทรานส์แล้ว   การประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่ายไขมันทรานส์ จึงสามารถประกาศและบังคับใช้ ในวันที่ 9 มกราคม 2562   อย่างรวดเร็วภายใน 6 เดือนหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต่างจากการประกาศใช้กฎหมายอื่นโดยทั่วไป

ไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์เป็นกรดไขมันประเภทไม่อิ่มตัว ที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างไป เกิดขึ้นได้จากธรรมชาติ จากการย่อยสลายอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง (โค กระบือ แพะ แกะ ฯ)  และเกิดขึ้นจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จากการเติมไฮโดรเจนลงในไขมันไม่อิ่มตัว เพื่อเปลี่ยนจากของเหลวให้แข็งตัวขึ้น

หมายเหตุ: ตัวอย่างน้ำมันถั่วเหลือง จุดที่ 9,12,15 ของน้ำมันเป็นจุดที่สามารถสร้าง bond เติม hydrogen ให้จับตัวกับน้ำมันถั่วเหลือง และกลายเป็นไขมันอิ่มตัวได้

ตัวอย่างสูตรทางเคมีของน้ำมันประเภทต่างๆ

หมายเหตุ: ตัวอย่างน้ำมันถั่วเหลือง จุดที่ 9,12,15 ของน้ำมันเป็นจุดที่สามารถสร้าง bond เติม hydrogen ให้จับตัวกับน้ำมันถั่วเหลือง และกลายเป็นไขมันอิ่มตัวได้

ในประเทศตะวันตก ใช้ผลิตภัณฑ์เนยและนมจากสัตว์ ซึ่งมีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารประเภทเบเกอรี่ ทำให้อาหารกรอบ/ฟู   จากการศึกษาพบว่า Trans Fat ในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมีปริมาณไม่สูง  (เฉลี่ยร้อยละ 1-3 กรัม ต่อ 100 กรัม)

และการศึกษายังพบว่า  แม้ว่าผ่านกระบวนการให้ความร้อน (เช่น ในกระบวนการผลิตและกระบวนการปรุงอาหาร) การเปลี่ยนแปลงทางเคมีก็ไม่ทำให้เกิด Trans Fat เพิ่มขึ้นถึงระดับอันตรายต่อสุขภาพ

การเพิ่มขึ้นของไขมันทรานส์เมื่อผ่านกระบวนการกำจัดกลิ่น ซึ่งใช้ความร้อนสูง

ปริมาณไขมันทรานส์ในน้ำมันพืชแบบต่างๆ

ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร  เพื่อให้ไขมัน และส่วนประกอบอาหารมีความคงตัว กรอบ ฟู จึงเติม hydrogen (hydrogenation) เพื่อให้น้ำมันพืชที่ใช้มีความอิ่มตัวสูงขึ้นคล้ายไขมันจากสัตว์   และจากการสำรวจผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศอเมริกาพบว่า Trans Fat ที่พบส่วนใหญ่ในผลิตภัณฑ์อาหารเป็น Trans Fat ที่เกิดจาก partial hydrogenation เป็น Artificial fat มากกว่าที่เกิดจากธรรมชาติ

สถานการณ์ Trans Fat ในประเทศไทย

องค์การอาหารโลกและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก กำหนดปริมาณการบริโภคไขมันดังนี้

  • พลังงานจากไขมันทรานส์ไม่ควรเกิน ร้อยละ 1 ของพลังงานทั้งหมดในแต่ละวัน หรือประมาณ 2.2 กรัมต่อวัน หรือ 0.44 กรัมต่อการบริโภค 1 ครั้ง
  • พลังงานจากไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมดในแต่ละวัน หรือประมาณ 22 กรัมต่อวัน หรือ 4.4 กรัมต่อการบริโภค 1 ครั้ง

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ทำการสำรวจสถานการณ์ไขมันทรานส์ในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก) พบว่าผลิตภัณฑ์ขนมอบ ที่มีส่วนผสมของเนย เนยเทียม เนยขาว (เช่น โดนัททอด พัพ พาย) มีไขมันทรานส์มากกว่าขนมอบของไทย และมากกว่าของทอดในตลาดล่าง

ปัญหา Trans Fat ในประเทศไทยอยู่ในตลาดกลางและบน ส่วนในตลาดล่างใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนจากน้ำมันปาล์ม/มะพร้าว มาเป็นเวลานานแล้ว

ความพยายามในการทำให้ประเทศไทยปลอดจากไขมันทรานส์

        การสำรวจดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยใช้ Trans Fat ในการทำอาหารไม่มาก คณะนักวิจัยได้เสนอประสบการณ์ในต่างประเทศที่ ลดการใช้   Trans Fat ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และการผลิตอาหาร

การใช้เทคโนโลยีการผลิตทดแทนการใช้ partial hydrogenation

ตัวอย่างการลด Trans Fat Acids จากการปรับสูตรอาหาร

ทบทวนการดำเนินงานการห้าม Trans Fatty Acids ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ทบทวนการดำเนินงานการห้ามไขมัน Trans Fatty Acids ใน สหภาพยุโรป

ในระหว่างปี 2559-2560 อย. เชิญผู้ประกอบการประชุมร่วมกันเพื่อหาความร่วมมือในการทำงาน  และพบว่า ในภาคอาหารพบว่า ผลิตภัณฑ์ในประเทศได้พยายามปรับสูตร และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการปรับสูตร และเลือกใช้ไขมัน/น้ำมันปลอดไขมันทรานส์ มีเพียงผลิตภัณฑ์ที่มาจาก multi-national company  ที่ครองตลาดใหญ่ในประเทศ เพียง 2 ผลิตภัณฑ์ ที่เสนอให้ปรับสูตรแต่ยังคงไม่เปลี่ยนสูตร  เพราะมีอำนาจการต่อรอง   อ้างการใช้สูตรจากต่างประเทศ  แม้ว่าประเทศต้นทางเปลี่ยนสูตรจากกฎหมายภายในประเทศที่บังคับใช้แล้ว

ในส่วนภาคอุตสาหกรรม ปรับกระบวนการผลิตงดการใช้ partial hydrogenation ในอาหาร คงเหลือเฉพาะการผลิตน้ำมันสำหรับเครื่องจักรในการผลิตอาหาร ตามมาตรฐาน GMP กำหนดให้ใช้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมอาหารคุณภาพระดับน้ำมัน food grade

ด้วยความร่วมมือจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่  อย. จึงเตรียมการจัดทำประกาศและการบังคับใช้กฎหมาย  สื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ผลิต และนำเข้าภายในประเทศ  และ WTO ตามกระบวนการปกติที่ อย. ดำเนินการ เนื่องจากกฎหมายอาจมีผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าอื่นๆ  ให้ได้รับทราบและแสดงความ

คิดเห็น  จากนั้น คณะกรรมการอาหารได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 388/ 2561  เรื่อง ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน  และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ  และมีผลบังคับใช้  ในวันที่ 9 มกราคม 2562  ใน 180 หลังวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เพื่อให้มีผลบังคับใช้จริงตามกฎหมาย อย. มีหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการผลิต สุ่มตรวจแหล่งผลิต ควบคุมวัตถุดิบนำเข้า และรวมถึงสุ่มตรวจสินค้าเมื่อจำหน่าย

สรุป Time Line ไขมันทรานส์

ประเด็นจากกระบวนการนโยบาย

  1. เป็นประเด็นที่องค์กรระหว่างประเทศ ประเทศคู่ค้า ให้ความสำคัญ หลายประเทศได้ดำเนินการและมีกฎหมายบังคับใช้ เพื่อลด/ห้ามการใช้ PHO ในระดับหนึ่ง  ผู้ผลิตที่มีฐานะเป็นผู้ส่งออกได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้ต้องปรับผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกใหม่
  2. จากข้อห้ามในต่างประเทศ กระทรวงสาธารรสุข โดย อย. มีเหตุผลที่ชัดเจนในการประกาศนโยบายที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์และเป็นอันตรายต่อสุขภาพเข้ามาในประเทศ
  3. แรงกดดันจากต่างประเทศ กระทบผู้ประกอบการจำนวนน้อย ที่ยังคงใช้ส่วนประกอบที่มีไขมันทรานส์
  4. มีทางเลือก/เทคโนโลยีที่ชัดเจนสำหรับผู้ผลิต เพื่อปรับ/เปลี่ยนกระบวนการการผลิต หรือหาส่วนประกอบทดแทนได้
  5. การออกกฎหมาย/ข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ทำด้วยความโปร่งใส มีงานวิชาการชัดเจน มีกระบวนการปรึกษาหารือ / แจ้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมถึงฺองค์กรรับผิดชอบระดับนานาชาติ สร้างการยอมรับในข้อตกลงร่วมกัน
  6. การวิเคราะห์ supply chain และเลือกจุดจัดการที่กระทบต่อ stakeholders น้อย โดยเลือกจัดการที่ผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ จำนวนไม่กี่องค์กร
  7. ใช้สื่อสังคมเป็นเครื่องมือกระตุ้นผู้ประกอบการ – เมื่อเหลือเพียง 2 บริษัทข้ามชาติ ที่ไม่ให้ความสนใจในการจัดการไขมันทรานส์ การออกสื่อ/แถลงข่าว แม้ไม่เสนอชื่อบริษัทชัดเจน  แต่เสนอภาพผลิตภัณฑ์ ที่สังคมสามารถเชื่อมโยงไปยังผลิตภัณฑ์ได้  บริษัทจึงยอมให้ความร่วมมือในทันที

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

  • ผู้บริโภคในสังคมไทย ให้ความสนใจ แต่ไม่เคลื่อนไหวกดดันให้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือให้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมบังคับ
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แม้มีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจน แต่ไม่ได้เผยแพร่ หรือนำมาใช้ประโยชน์จากความรู้ดังกล่าว เพื่อสร้าง/นำเสนอเป็นนโยบายที่ชัดเจน
  • การป้องกันอันตรายจากการบริโภคไขมันของไทย ต้องให้ความรู้ประชาชนที่ชัดเจน เรื่องการบริโภคไขมันรวม (พิจารณาข้อมูลจากฉลากอาหาร – พลังงานจากไขมันแต่ละวัน ไม่เกิน ร้อยละ 30 ของพลังงานจากไขมันทั้งหมด)