วงจร “เสียแล้วซ่อม” ย่อมไม่ดีเท่าป้องกัน
เคยตั้งคำถามกับการดูแลสุขภาพช่องปากตนเองหรือไม่? เมื่อไหร่ที่ปวดฟันจึงจะนึกถึงหมอฟันใช่ไหม? ถ้าใช่! คุณกำลังอยู่ในวงจร “เสียแล้วซ่อม” หรือถามตัวเองว่า “อยากจ่ายมากหรือจ่ายน้อย” ในการดูแลช่องปากมากกว่ากัน? เพราะแท้จริงแล้วคุณสามารถแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าในการบริการสุขภาพได้ด้วยตัวคุณเอง
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่หลายคนไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลช่องปากอย่างเหมาะสม จนปล่อยให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันการเกิดและหยุดการลุกลามได้ก่อนจะสายเกินไป จากข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ซึ่งถามถึงใช้บริการอะไรในการทำฟันครั้งล่าสุดในปี 2564 พบว่ามีเพียง 24% เท่านั้นที่ใช้บริการส่งเสริมป้องกัน ส่วนที่เหลือใช้บริการซ่อมแซม ซึ่งมีค่าบริการสูงกว่า
อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลักประกันสุขภาพสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศที่รวมงานทันตกรรมเข้าไว้แล้ว แต่หัตถการฟรีนี้คนส่วนใหญ่จะเข้ามาใช้บริการ “ซ่อม” เท่านั้น ยังไม่รวมงานส่งเสริมป้องกัน ทำให้เห็นว่าประชากรส่วนใหญ่ละเลยการป้องกัน อาจเพราะส่วนหนึ่งต้องใช้เวลา ใช้เงิน ไปกับเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า และทันตบุคลากรเองก็ยังให้บริการส่วนใหญ่ไปกับการซ่อมแซมมากกว่าการส่งเสริมการป้องกัน ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงความรู้ในการดูแลช่องปากด้วยตนเองอย่างถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญ และยังคงแปรงฟันด้วยเทคนิคเดิมที่ถูกสอนในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นต้น ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการที่มีคุณค่าสูงอย่างเท่าเทียม
หากคุณเห็นว่าการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้คุณมีสุขภาพฟันที่ดีไว้ใช้ตลอดชีวิต มาทำความรู้จักกับบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากที่นอกเหนือจากการซ่อมแซมในสถานพยาบาลของรัฐและคลินิกเอกชน เมื่อเทียบกับการ “ซ่อม” แล้ว บริการเหล่านี้ยังมีต้นทุนการให้บริการน้อยกว่าการซ่อมแซมอยู่มาก แต่สามารถช่วยดูแลช่องปากได้อย่างยั่งยืน
– บริการตรวจสุขภาพฟันประจำปี ประเมินความเสี่ยงจากพฤติกรรม และแนะนำวิธีดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเอง
– บริการเคลือบปิดหลุมร่องฟัน เพื่อทำให้ร่องฟันตื้นขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ
– บริการเคลือบฟลูออไรด์ เพิ่มความแข็งแรงให้ฟัน
ในอนาคตอันใกล้ เราหวังจะได้เห็นแนวทางที่จะสามารถลดช่องว่างของปัญหา และทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ “ส่งเสริมป้องกัน” มากกว่าบริการ “เสียแล้วซ่อม” มากขึ้น อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อทำให้โรคที่ป้องกันได้มีปริมาณลดลงจริง ๆ สักที
ที่มา: บทความจากโครงการ “พัฒนารูปแบบการจัดบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากในบริบทสถานพยาบาลทันตกรรมเอกชน”