ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีผลกระทบจากความเสื่อมถอยในร่างกาย โรคต่าง ๆ โดยเฉพาะผลจากการใช้ยา ที่ทำให้ช่องปากขาดความสมดุลจากอาการ “ปากแห้ง น้ำลายน้อย”
หน้าที่สำคัญของน้ำลายคือการสร้างความชุ่มชื้นในช่องปาก การกลืนอาหาร การพูด การใช้งานฟันเทียม นอกจากนี้นำลายยังช่วยปรับสภาวะกรดด่างเพื่อยับยั้งการเกิดฟันผุ และลดโอกาสการเกิดการติดเชื้อในช่องปากอีกด้วย
โครงการพัฒนาระบบข้อมูลที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ทำการสอบถามความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย ประกอบด้วย แพทย์และทันตแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งมีฉันทามติว่า ตัวยาที่มีการใช้ในประเทศซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดอาการปากแห้งน้ำลายน้อยได้นั้น คือ ยากลุ่ม strong anticholinergic effect จำนวน 11 รายการ ดังนี้
กลุ่มยารักษาแก้แพ้
1. Chlorpheniramine คลอเฟนะมีน ใช้ป้องกันอาการแพ้ เช่น เยื่อจมูกอักเสบและลมพิษ
2. Cyproheptadine ไซโปรเฮปตาดีน ใช้รักษาอาการภูมิแพ้ และการกระตุ้นความอยากอาหาร
3. Diphenhydramine (oral) ไดเฟนไฮดรามีน ใช้แก้ภูมิแพ้ โรคนอนไม่หลับ โรคจากหวัดทั่วไป อาการสั่นในพาร์คินโซนิซึม และคลื่นไส้
4. Hydroxyzine ไฮดรอกไซซีน มีคุณสมบัติลดอาการคันจากผื่นลมพิษที่ผิวหนัง ลดความวิตกกังวลและความเครียด
5. Dimenhydrinate ไดเมนไฮดริเนท ยาแก้แพ้ คลื่นไส้อาเจียน เมารถ เมาเรือ บ้านหมุน และแพ้ท้อง
กลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้า
1. Fluoxetine (SSRI) ฟลูออกซิทีน ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคหิวไม่หายแบบทานแล้วอาเจียน โรคตื่นตระหนก และความละเหี่ยก่อนระดู
2. Sertraline (SSRI) เซอร์ทราไลน์ ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิก โรค PTSD และโรคจิตเวชอื่น ๆ
3. Amitriptyline อะมิทริปไทลิน รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และยังใช้รักษาอาการไมเกรน ปวดปลายประสาทจากงูสวัด และโรคลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าได้อีกด้วย
4. Nortriptyline นอร์ทริปทิลีน ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า ปวดเมื่อยตามระบบประสาท โรคสมาธิสั้น การเลิกบุหรี่ และความวิตกกังวล
กลุ่มยารักษาทางจิตเภท
1. Chlorpromazine clozapine คลอโปรมาซีน คลอซาปีน ใช้เป็นหลักในการรักษาโรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ ปัญหาทางพฤติกรรมที่รุนแรงในเด็ก รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสมาธิสั้น คลื่นไส้อาเจียน และความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด
2. Olanzapine thioridazine โอลานซาพีน ไธโอริดาซีน ใช้ในการรักษาโรคจิตเภทและโรคสองขั้นน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำอีกว่าหากมีการใช้ยาเหล่านี้อยู่ให้สำรวจตนเองเพิ่มด้วยว่าเริ่มมีสัญญาณปากแห้งในระดับใด เพื่อจะได้หาสาเหตุในการดูแลป้องกันอย่างเหมาะสม
ที่มา: บทความ “สุขภาพกายกับสุขภาพช่องปาก สัมพันธ์กัน…แต่ป้องกันได้ ทพญ.วรารัตน์ ใจชื่น กองบริหารการสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข