โรคมะเร็งช่องปาก เป็นหนึ่งในสิบของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย เมื่อพบแล้วมีอัตราการเสียชีวิตสูงร้อยละ 90 พบได้ในทุกอวัยวะ เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้นไก่ ฯลฯ และมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปี และพบในเพศชายที่สัมผัสกับพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า มีพฤติกรรมเสี่ยงใดบ้างที่เสี่ยงต่อโรคนี้ #มอสอชอขอแชร์ จะเล่าให้ฟัง
สูบบุหรี่และยาเส้น
ควันและความร้อนจากการสูบบุหรี่จะทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากระคายเคือง อักเสบ เมื่อเนื้อเยื่อมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลานานอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งช่องปาก
ดื่มแอลกอฮอล์จัด
สำหรับผู้ที่ดื่มจัด ๆ ดื่มเป็นประจำ เมื่อแอลกอฮอล์สัมผัสกับเนื้อเยื่อในช่องปากโดยตรง ทำให้ง่ายต่อการเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในช่องปากให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ยิ่งสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กัน จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนปกติถึง 15 เท่า
ทานอาหารที่ร้อนจัด
บางครั้งการทานหรือดื่มของที่ร้อนจัดเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเนื้อเยื่อ และการระคายเคืองเช่นนี้หากเกิดขึ้นเป็นประจำก็อาจเปลี่ยนเซลล์ในเนื้อเยื่อให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
กินหมากพลูเป็นประจำ
มีการวิจัยพบว่าในหมากพลูมีสารที่อาจทำให้ก่อมะเร็งในช่องปากได้ การเคี้ยว อม สัมผัสกับกระพุ้งแก้มเป็นประจำ เซลล์บริเวณนั้นอาจเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้
ปล่อยให้ฟันผุเรื้อรัง
ฟันผุ ฟันแตก ฟันบิ่น หรือฟันหัก มักจะมีขอบฟันที่แหลมคม สร้างความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้มและลิ้น หากมีแผลเรื้อรังสะสมอยู่นาน แผลนั้นอาจกลายเป็นมะเร็งได้
ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
โดยเฉพาะผู้ที่ทานผักและผลไม้น้อย ชอบทานแต่เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ ทำให้ขาดสารอาหารประเภทวิตามิน ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ตัวการสำคัญของการเกิดเซลล์มะเร็งได้
เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง
โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่าย เช่น HPV (Human Papilloma Virus) ที่ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
เราทุกคนล้วนมีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่ต่างกัน พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างก็อาจทำร้ายสุขภาพของเราได้ หากเรารู้จักควบคุม รู้ลิมิตของตัวเอง หรือละเลิกได้ ก็จะช่วยให้เราสุขภาพดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายได้
ที่มา:
คู่มือการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตัวเอง องค์ความรู้ที่จำเป็นในการส่งเสริมสุขภาพประชากรวัยทำงานที่มีมาตรฐาน สำหรับประชาชน