แชร์ไปยัง
Facebook

ส่งไปยัง
Email

ดาวน์โหลดไฟล์

การดูแลสุขภาพช่องปากในชาย-หญิง วัยทอง

ของวัยทอง คือวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทางเพศในร่างกาย ซึ่งระดับฮอร์โมนทางเพศที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่ออวัยวะปริทันต์โดยตรง เช่น
– เกิดโรคเหงือกอักเสบได้ง่าย จากภาวะลดความต้านทานต่อคราบจุลินทรีย์ที่ประกอบไปด้วยแบคทีเรียในช่องปาก
– เกิดความรู้สึกไม่สบายช่องปาก เช่น ปวดแสบปวดร้อน ปากแห้ง การรับรสที่เปลี่ยนแปลง
– เกิดภาวะกระดูกพรุน โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่กำลังจะหมดประจำเดือน หรือหมดประจำเดือนไปแล้ว ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงมีส่วนทำให้กระดูกขากรรไกรพรุน และอาจทำให้สูญเสียกระดูกรอบตัวฟันได้

วิธีดูแลสุขภาพช่องปากของวัยทอง
1. แปรงฟันตามหลัก 2:2:2 (แปรงวันละ 2 ครั้ง แปรงนาน 2 นาที และงดอาหารและของว่างหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง) โดยให้วางขนแปรงเฉียงเข้าหาร่องเหงือก 45 องศา แล้วใช้วิธี “ขยับ-ปัด” 3-4 ครั้ง และทำซ้ำ 5-6 ครั้ง/ซี่
2. ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดช่องฟัน ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ หรือใช้แปรงซอกฟัน เมื่ออายุมากขึ้น จะยิ่งมีช่องว่างระหว่างฟันอย่างชัดเจน สามารถใช้แปรงโดยแตะยาสีฟันเล็กน้อยแปรงระหว่างซอกฟันแทนการใช้ไหมขัดฟัน
3. แปรงลิ้นให้สะอาด เพราะโคนลิ้นมีร่องลึกระหว่างปุ่มรับรสเล็ก ๆ มากมาย ซึ่งเป็นที่กักเก็บคราบจุลินทรีย์ ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นปาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุได้
4. ตรวจและประเมินสุขภาพช่องปากเบื้องต้นด้วยตัวเองหน้ากระจก อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งหลังจากแปรงฟันแล้ว

ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงสมรรถนะในด้านใดก็ตามของร่างกาย หากคุณสามารถดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากได้อย่างดี มีวินัย สุขภาพช่องปากก็ไม่อาจเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคุณได้แน่นอน

ที่มา: คู่มือการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตัวเอง องค์ความรู้ที่จำเป็นในการส่งเสริมสุขภาพประชากรวัยทำงานที่มีมาตรฐาน สำหรับบุคลากรสาธารณสุข