‘กระบวนการตามสอบย้อนกลับ’ ทางออกช่วยยกระดับ
ความปลอดภัยของผู้บริโภค จากสารพิษตกค้างในพืช ผัก ผลไม้
รศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
มสช. ชวนคิด | 5 มกราคม 2567 | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม
เรารู้กันอยู่แล้วว่า “สุขภาพที่ดี” มาจากการใช้ชีวิตที่ดี ความหมายของ “การใช้ชีวิตที่ดี” คือ 1) กินอาหารที่ดีเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ 2) มีความคิดที่ดี มีพลังใจ มีความสามารถในการจัดการความเครียด 3)ได้ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ และ 4) อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีอากาศบริสุทธิ์ ในข้อสุดท้ายนี้อาจเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เราควบคุมได้ยาก ข้อที่สองและสามนั้น ดูจะเป็นสิ่งที่เราสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง และเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ แต่ในข้อที่สอง เรารู้ว่าอะไรที่กินแล้วดีมีประโยชน์ แต่เราเลือกได้ … จริงหรือไม่?
เราอาจเลือกชนิดอาหารที่กินได้ แต่เราเลือกแหล่งผลิตที่มาอาหารได้จริงหรือไม่ หากเรามีศักยภาพในการจ่ายไม่มากพอ หากอาหารปลอดภัยนั้นมีราคาแพง หรือแม้ว่าเราจะเลือกแล้ว เราจะมั่นใจได้หรือไม่ว่าเราเลือกถูก?
ถ้าเราปรับพฤติกรรมการกินแล้วแต่อาหารก็ยังสามารถทำร้ายเราได้อยู่ดี อะไรคือทางเลือก ทางออก ของเรา
รศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำหลักสูตรพิษวิทยาและโภชนาการเพื่ออาหารปลอดภัย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ หัวหน้าศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย ที่สนใจเรื่องอาหารและสุขภาพในหลายมิติ อาจารย์จึงได้เห็นบริบทแวดล้อมของเส้นทางอาหารในประเทศไทย และคาดหวังการขับเคลื่อนระบบอาหารปลอดภัยให้เกิดขึ้น อย่างน้อยคนไทยก็ควรได้รู้ว่าผักและผลไม้ที่เรากินมาจากไหน
NCDs โรคร้ายตายอันดับหนึ่งของคนไทย
สาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs¹ (Non- Communicable diseases) เช่น โรคหัวใจ-หลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และคนไทยกว่า 14 ล้านคนกำลังเป็นโรค NCDs และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พฤติกรรมหลักที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs ได้แก่ พฤติกรรมการออกกำลังกาย และ พฤติกรรมการบริโภคอาหาร จากวิถีชีวิตที่เน้นความสะดวก เร่งรีบ ทำให้เลือกบริโภคอาหารแปรรูป อาหารพร้อมบริโภค ซึ่งมี รสชาติ หวาน มัน เค็ม มากเกินความจำเป็น เมื่อรวมถึงพฤติกรรมทางกายที่เคร่งเครียด พักผ่อนน้อย ละเว้นการออกกำลังกาย ทานอาหารไม่เป็นเวลา ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพสะสมกลายเป็นโรค NCDs ในที่สุด
จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการดื่ม “น้ำชง” มากถึงร้อยละ 26.3 “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์บรรจุขวด” ร้อยละ 18.9 “เนื้อสัตว์แปรรูป” ร้อยละ 16.9 “อาหารไขมันสูง” ร้อยละ 16.1 และ “อาหารกึ่งสำเร็จรูป” ร้อยละ 1.4 ซึ่งอาหารเหล่านี้มักจะมีรสชาติหวานและเค็ม
การพยายามลดหวาน ลดเค็ม สำหรับคนที่ติดรสชาติจัดจ้านมาเป็นเวลานานก็มีความยากในการที่จะลด ละ เลิก ยาวนานไปจนกว่าร่างกายจะเกิดปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจเชิงลบในการที่จะเลิกพฤติกรรมการกินที่ส่งผลต่อสุขภาพ ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีการรณรงค์และหาทางออกด้านอื่นโดยการส่งเสริมความรู้ให้ใช้สมุนไพรในการปรุงรสชาติให้เข้มข้นขึ้นแทนเครื่องปรุงรสประเภทเกลือและน้ำตาล ถ้าทำรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้นได้ หรือให้แทนขนมกรุบกรอบที่มีเกลือโซเดียม และเบเกอรี่ที่มีทั้ง เนย น้ำตาล และมีส่วนประกอบโซเดียมจากผงฟู ให้แทนด้วยผลไม้ที่ถึงแม้จะหวานแต่มีใยอาหารที่ช่วยให้น้ำตาลในเลือดไม่สูงอย่างรวดเร็วเกินไป คนทั่วไปก็น่าจะตอบรับได้มากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า และในอีกทางหนึ่งคือไป
เน้นการเติมเต็มที่ผักและผลไม้ซึ่งเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกร่วมกับการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้แนะนำว่า ควรบริโภคผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม และพบข้อมูลสำคัญจากองค์การอนามัยโลกที่ได้คาดประมาณว่า มีการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของประชากรโลกกว่า 5.2 ล้านคน อันเป็นผลมาจากการบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันก็พบงานสำรวจว่าคนส่วนหนึ่งไม่กินผักเพราะกลัวเรื่องความไม่ปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อนในผัก ในขณะที่เราต้องบริโภคผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัมต่อวันตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ในฐานะผู้บริโภค จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าผักที่เราทานมีความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
“เคยมีการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มผู้บริโภค ทุกคนรู้ว่าผักผลไม้มีประโยชน์ ประเด็นคือ มีข้อกังวล ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีประโยชน์ แต่สารเคมีตกค้างทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจ กับอีกประเด็นคือ การเข้าถึงและความหลากหลายของผัก หรือวันนี้เราซื้ออาหารทานก็อาจมีเมนูผักที่เราไม่ชอบ ส่วนผลไม้จะไม่มากเท่าผัก แต่การทานผลไม้ เราล้างแล้วทานสด โดยเฉพาะถ้าซื้อทานนอกบ้าน เราก็จะไม่รู้ว่าเขาล้างมาอย่างไร ก็ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ” อาจารย์ชนิพรรณเล่า
สถานการณ์สารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ของไทย
สารกำจัดศัตรูพืช และสารเคมีตกค้างอื่น ๆ ในพืชผัก เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในโรค NCDs สถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ของไทย ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลการตรวจผักผลไม้สดในปี 2565 จำนวน 385 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืช ร้อยละ 53 ตรวจพบแต่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 12.7 และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 34.3 ในขณะเดียวกันเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ในพื้นที่ 11 จังหวัด จากสถานที่จำหน่าย พบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินเกณฑ์ที่กำหนด คือเกินค่า MRL (Maximum Residual Limit) โดยชนิดที่ตรวจพบการตกค้างเกินร้อยละ 50 ของแต่ละกลุ่มตัวอย่าง คือ ผักคะน้า พริกแดง ถั่วฝักยาว ผักสลัดกรีนคอส ผักสลัดกรีนโอ๊ค และมะระ สำหรับผลไม้ พบการตกค้างเกินร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่าง คือ องุ่น ส้ม ฝรั่ง และแอปเปิ้ล ส่วนผักผลไม้ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ในปีเดียวกัน European Food Safety Authority (EFSA) รายงานพบสารพิษตกค้างในผลผลิตผักและผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศไทย เกินค่า MRL คิดเป็นร้อยละ 17.5 โดยผลผลิตนำเข้าที่มีปัญหาการตรวจพบสารพิษตกค้าง ได้แก่ พริก ถั่วฝักยาว มะเขือ
ปัจจุบันประเทศไทยมีสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นสารตั้งต้นประมาณ 200 – 300 ชนิด ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีแนวโน้มการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร เพิ่มสูงขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2564 มีมูลค่าการนำเข้าจำนวน 27,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปี 2563 ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยยังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในแง่ปริมาณการใช้ และความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ในเชิงเศรษฐกิจ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ใช้ข้อมูลสถิติ² ระบุการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศในอียูเปรียบเทียบกับของประเทศไทย พบว่า การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อพื้นที่ของประเทศสมาชิก EU อยู่ที่ 3.8 กิโลกรัม (สารออกฤทธิ์) ต่อแฮกตาร์ ( 6.25 ไร่) ในขณะที่ประเทศไทยตัวเลขการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกรมวิชาการเกษตรอยู่ที่ 4.1 กิโลกรัมต่อแฮกตาร์ และเมื่อคิดการใช้สารเคมีต่อหัวประชากร ประเทศในอียูก็ยังมีค่าเฉลี่ยการใช้สารเคมีต่อหัวน้อยกว่าประเทศไทย โดยประเทศไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อหัวอยู่ที่ 1.3 กิโลกรัมต่อคน ในขณะที่อียูใช้เพียง 0.8 กิโลกรัมต่อคนเท่านั้น นอกเหนือจากใช้สารเคมีน้อยกว่าแล้ว อียูยังใช้ประเภทของสารเคมีที่มีความเป็นอันตรายในทางวิชาการ ในจำนวนที่น้อยกว่าอีกด้วย
การวิเคราะห์ปัญหาภาพรวมการใช้สารเคมีนอกจากวัดจากปริมาณการใช้ต่อพื้นที่หรือต่อหัวประชากรแล้ว ยังมีการวัดจากประสิทธิภาพในการใช้สารเคมีเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจากการเปรียบเทียบโดยใช้ข้อมูลจาก Eurostat พบว่า GDP ของการผลิตพืชของ EU มีมูลค่า 93.46 พันล้านยูโร ในขณะที่ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจของไทยระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าจีดีพีการผลิตพืชอยู่ที่ 4.14 แสนล้านบาทในปี 2563
มูลค่าทางเศรษฐกิจของการผลิตพืชของไทยต่อฟาร์มและต่อพื้นที่ (แฮกตาร์) อยู่ที่ 54,529 บาท และ 20,714 บาท ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศอียูอยู่ที่ 250,233 บาท และ 39,682 บาทตามลำดับ แปลความได้ว่า ในประเทศไทยใช้ปริมาณสารเคมีทางการเกษตรมากกว่าเมื่อเทียบปริมาณการใช้ต่อฟาร์ม แต่กลับพบว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศใน EU มีปริมาณการใช้สารเคมีทางการเกษตรต่อฟาร์มน้อยกว่า แต่กลับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากกว่า การใช้สารเคมีในปริมาณมากในประเทศไทยอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตในทางเศรษฐกิจ
ในด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้วิเคราะห์ผลของการตกค้างโดยละเอียด³ โดยจำแนกตามแหล่งที่มาของผักและผลไม้พบว่า ผักผลไม้ที่นำเข้าและผลิตในประเทศมีความเสี่ยงพอ ๆ กัน โดยพบการตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้ที่ผลิตในประเทศ 54.01% จากจำนวนผักที่ส่งตรวจทั้งหมด 274 ตัวอย่าง ส่วนผักผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศพบตกค้างเกินมาตรฐาน 56.1% จากจำนวนตัวอย่างที่ทราบว่านำเข้ามาทั้งหมด 82 ตัวอย่าง
ไม่ระบุแหล่งที่มาและไม่สามารถตรวจสอบ
จากผู้ขายได้ว่ามาจากแหล่งผลิตใด
แล้วผู้บริโภคจะทำอย่างไร?
เส้นทางของผักกำหนึ่งกว่าจะมาถึงผู้บริโภคนั้น เริ่มตั้งแต่การปลูกที่แปลงของเกษตรกรรายย่อย รวบรวมเก็บผลผลิตมาส่งที่พ่อค้าคนกลางรายย่อย จากพ่อค้าคนกลางรายย่อยหลาย ๆ กลุ่มรวบรวมส่งเข้ามาถึงตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตร แล้วขายต่อถึงพ่อค้าผักรายย่อย หรือหรือส่งเข้าโรงคัดบรรจุผัก ผลไม้ เพื่อส่งเข้าห้าง ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ จนถึงมือผู้บริโภคไปเลือกซื้อหาจากแผงขาย ผู้บริโภคแทบไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผักในมือนั้นมาจากแหล่งปลูกที่ใด และโดยใคร
โดยมีการเฝ้าระวังตามบทบาทหน้าที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับจังหวัดกรุงเทพมหานคร ยังมีสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับแผงค้าในตลาดใหญ่ๆ
“จะมีหน่วยงานที่มีบทบาทของการเฝ้าระวัง ถ้าเราดูตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำเรื่องการปลูก ก็จะเป็นกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร กลางน้ำก็เป็น โรงคัดบรรจุ มีการตัดแต่ง แบ่งบรรจุใส่ถุงพร้อมส่งเข้าห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตก่อนจำหน่ายถึงมือผู้บริโภค ก็จะเป็นบทบาทกระทรวงสาธารณสุข โดย กองอาหาร อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่วนการเฝ้าระวังที่ปลายน้ำ คือสถานที่จำหน่าย ทั้ง ตลาดสด แผงลอย ซูปเปอร์มาเก็ต มินิมาร์ท และตลาดนัด ก็มีหลายหน่วยงาน ถ้าในต่างจังหวัดเป็นหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร มีการเฝ้าระวังโดยสุ่มตัวอย่างผักผลไม้สดในพื้นที่ 12 เขตสุขภาพของภูมิภาคต่าง ๆ โดยตรวจด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น มีการรวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในฐานข้อมูลของ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข ส่วนตัวอย่างที่สุ่มจากด่านนำเข้าและตัวอย่างเฝ้าระวัง โดย อย. จะถูกยืนยันผลตรวจโดยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่วนผักผลไม้ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ จะเป็นหน่วยงานของสำนักอนามัย กทม. 50 เขต สุ่มตรวจด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น นอกจากนี้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งกรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ก็มีการสุ่มตรวจสินค้าผัก ผลไม้ ที่มีเครื่องหมายรับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ สุดท้ายเมื่อผักที่อยู่ปลายน้ำคือตลาด ไปถึงผู้บริโภค แล้วก็จะไปอยู่ในอาหาร เช่น ในก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ก็จะมี ร้านอาหารที่มีกรมอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขเข้ามามีบทบาท ซึ่งในห่วงโซ่ก็มีเรื่องการขนส่งอีก เราจะเห็นได้ว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานมีหลายหน่วยงานซึ่งข้ามกระทรวง เข้ามาเกี่ยวข้อง ในการดูแลเฝ้าระวังผักผลไม้” อาจารย์ ชนิพรรณกล่าว
ต้นน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นที่ด้านการส่งเสริมเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตเป็นหลัก ด้านการควบคุมคุณภาพผลผลิต ได้มีมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตที่แปลงปลูก จนถึงตรวจสอบเฝ้าระวังสินค้าเกษตรอย่างครบวงจรโดย การขอการรับรองระบบการปลูกตามมาตรฐาน GAP คือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ใช้ปริมาณสารเคมีในปริมาณที่เหมาะสมและเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาที่กำหนด โดยมีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ตรวจแปลงและผลผลิต เมื่อผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GAP ก็จะออกหนังสือรับรองให้ แต่ทั้งนี้ในทางปฏิบัติเนื่องจากเป็นมาตรฐานสมัครใจ การออกใบรับรองระบบการผลิตสามารถทำได้เฉพาะกลุ่มที่ยื่นขอ GAP เท่านั้นเพื่อเอื้อยกระดับเกษตรกร และเอื้อต่อคู่ค้าที่มีความต้องการผลผลิตมาตรฐาน ไม่นับรวมถึงเกษตรกรรายย่อยอื่น ๆ ที่ส่งผลผลิตมาตามเส้นทางจนถึงผู้บริโภค นั่นหมายความว่า หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีข้อจำกัด ที่จะลงไปตรวจสอบได้ทั้งหมดทุกแปลงทั่วทั้งประเทศ ซึ่งต่อมาถึงแม้จะมีการถ่ายโอนให้หน่วยงานเอกชน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณการตรวจที่เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถจ่ายได้
กลางน้ำ ในเส้นทางระหว่างขนส่ง จากแปลงสู่แหล่งรวบรวมผลผลิต บางครั้งอาจตรวจพบสารเคมีตกค้างที่ต้นทางแปลงปลูก แต่ก็สามารถพบสารเคมีตกค้างบางประเภทที่ใช้เพื่อยืดอายุผลผลิต ในขั้นตอนการขนส่งได้เช่นกัน
ปลายน้ำ กระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ใน 12 เขตสุขภาพ ทำหน้าที่สุ่มตรวจผลผลิตในสถานที่จำหน่าย ตลาดทั่วไปและรายงานผล ต่อ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยฐานข้อมูลจะเห็นข้อมูลเป็นภาพรวมสถานการณ์ในแต่ละปี และไม่สามารถตามสอบย้อนกลับไปที่ต้นทางแหล่งผลิตได้
ปัจจุบันมีกฎหมายบังคับให้แหล่งรวบรวมผลผลิต โรงคัดบรรจุ ต้องมีการจดทะเบียนและผ่านการรับรองมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 386 ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า GMP โรงคัดผัก ผลไม้ ซึ่งในขั้นตอนของการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวส่งผลให้ต้องมีการสุ่มตรวจการตกค้างสารกำจัดศัตรูพืชตามมาตรฐานสารพิษตกค้าง และลูกฟาร์มที่เป็นคู่ค้ากับห้างค้าปลีกต้องลงทะเบียนเกษตรกรด้วย มีการตรวจสอบปริมาณสารตกค้างด้วยชุดทดสอบคัดกรองการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชเบื้องต้น (Test kit) ทั้งที่โรงคัดหรือศูนย์กระจายสินค้าของห้างค้าปลีก แต่การสุ่มก็ยังเป็นเพียงการสกรีนเบื้องต้น และไม่ใช่ทำทุกชนิดผักผลไม้ หรือทุกรุ่นการผลิต
การยืนยันผลในระดับห้องปฏิบัติการเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง แม้หน่วยงานเฝ้าระวังจะมีการสุ่มตัวอย่างตามมาตรฐานสากล แต่ในรายละเอียด เชิงเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ยังมีข้อจำกัดของความครอบคลุมชนิดสารเคมี และข้อจำกัดที่สำคัญคือกว่าจะทราบผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ ผลผลิตชุดนั้นก็ได้เดินทางไปถึงมือผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว จะนำผลตรวจมาใช้ประโยชน์ได้ก็เฉพาะรู้ว่าแหล่งจำหน่ายที่สุ่มตัวอย่างนั้นมาจากแผงใด ตลาดใด ไม่สามารถตามสอบกลับไปที่แปลงปลูกเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตที่ไม่ปลอดภัยได้
“ทุกคนทำงานในบทบาทหน้าที่ของเขา ถามว่าทุกคนเป็นหน่วยงานเฝ้าระวัง มีการสุ่มตัวอย่าง วิเคราะห์ มีขั้นตอน test kit และบางส่วนถูกยืนยันผลด้วยการส่งไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิคขั้นสูง ซึ่งแต่ละที่ก็มีข้อจำกัดของจำนวนและชนิดสารมาตรฐานต่างกัน ส่งผลให้ผลที่ได้อาจไม่ครอบคลุมและไม่สามารถบ่งบอกสถานการณ์การตกค้างที่แท้จริง ก็จะเป็นช่องว่างอย่างหนึ่ง ส่วนอีกข้อหนึ่งคือ เราไม่มีฐานข้อมูลที่ร่วมกัน บางหน่วยงานมีลักษณะการเก็บข้อมูลเป็นรายงานที่ส่วนกลางสามารถดูข้อมูลได้ แต่การนำข้อมูลมาแชร์ร่วมกันยังไม่เปิดเสียทีเดียว ซึ่งตรงนี้เป็นช่องว่างของการเฝ้าระวังถ้าเรามองในภาพรวมของประเทศหน่วยงานเฝ้าระวังกันเองหรือหน่วยงานกลางในการวางแผนการแก้ปัญหาการตกค้างสารกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ หรือผู้บริหารระดับสูง อย่างน้อยให้สามารถใช้ฐานข้อมูลตรงนั้นได้ เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการบริโภคผลผลิตที่ไม่ปลอดภัย ของประเทศเพื่อวางงบประมาณ สามารถวางแผนการทำงานร่วมกันแบบข้ามกระทรวงหรือแม้แต่หน่วยงานภายในกระทรวงเองด้วย”
อาจารย์ชนิพรรณอธิบาย
จากช่องว่างดังกล่าว กระบวนการตามสอบกลับไปที่ไม่ถึงแปลง จึงยังไม่สามารถแก้ไขให้ตรงจุดได้ จะมีแนวทางการบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงการทำงานและข้อมูลระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข ได้อย่างไร?
การบูรณาการระบบข้อมูลสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สดตลอดห่วงโซ่อุปทาน
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ในกระบวนการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ ณ ปัจจุบัน ข้อมูลการเฝ้าระวังของแต่ละหน่วยงานยังกระจัดกระจายเป็นส่วน ๆ (fragmentation) และขาดการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานเฝ้าระวังด้วยกันเอง แม้จะมีการส่งผลวิเคราะห์พบการตกค้างกลับไปยังหน่วยงานในพื้นที่ของตนเอง แต่ยังไม่มีการรายงานการแก้ปัญหาและการตรวจซ้ำส่งกลับมาเก็บในฐานข้อมูลของหน่วยงานกลาง ในกระบวนการตามสอบกลับ (traceability) ส่วนใหญ่ไม่สามารถตามสอบไปยังแปลงปลูกได้ ทำให้ไม่สามารถบ่งชี้สาเหตุของปัญหาการตกค้างจึงแก้ปัญหาไม่ได้ และข้อจำกัดของศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ที่แต่ละหน่วยงานใช้ในการเฝ้าระวัง ส่งผลให้การแสดงผลลัพธ์อาจไม่สามารถบ่งชี้สถานการณ์จริงของปัญหาการตกค้าง รวมถึงผู้ต้องการใช้ข้อมูล (stakeholder ที่เกี่ยวข้อง) ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานเฝ้าระวังได้
การบูรณาการข้ามภาคส่วนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้เกิดการร่วมแบ่งปันข้อมูล จึงดูจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ เพียงทำให้ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานรู้ว่า หากสอบกลับไป 1 ขั้นตอนคือใคร มาจากที่ใด และไปต่ออีก 1 ขั้นตอน เป็นใคร กำลังจะไปที่ใด ก็จะสามารถเอาข้อมูลที่มีมาเชื่อมกันได้ เป็นฐานข้อมูลกลางที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในทั้ง 2 กระทรวง นำข้อมูลที่มีมาเติมและมีการอัพเดทข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีเครื่องมือแสดงข้อมูลสถานการณ์การตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในภาพรวมของประเทศ ที่สามารถบ่งชี้ชนิดสารตกค้าง ชนิดผลผลิต ที่สัมพันธ์กับแหล่งจำหน่ายและพื้นที่ปลูก โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการตามสอบย้อนกลับของผลผลิตที่มีปัญหาไปยังต้นน้ำ (แปลงปลูก) สร้างเครือข่ายและร่วมกันกำหนดแนวทางการสุ่มตัวอย่างและเทคนิคตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง เพื่อสามารถบ่งบอกสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ และมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลผักผลไม้ปลอดภัยเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและส่งเสริมการตลาดได้
“ความสำคัญจริงๆ คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกลับไปแก้ไขปัญหาได้ จากกระบวนการตามสอบย้อนกลับ มันเหมือนการแก้ปัญหาในอนาคต โดยกลับไปแก้ที่ต้นทางซึ่งแก้ได้ ถ้าตรวจพบว่ามีการตกค้างแล้วตรวจสอบกลับไปที่แปลงได้ ซึ่งก็อาจมีสัญลักษณ์ที่ทำให้ตามสอบไปได้ ว่าล็อตที่มีการตกค้างปัญหาเกิดจากอะไร เราเคยใช้ระบบการตามสอบย้อนกลับ เราพบว่ามีการปนเปื้อนโดยไม่ตั้งใจ จากการที่คนงานใช้อุปกรณ์ฉีดพ่นเดียวกันในพืชต่างชนิดกัน พอเรารู้ชนิดสารตกค้าง เอาผลจากห้องแล็ปไปคุยกับเจ้าของฟาร์มทำให้ตามกลับไปหาสาเหตุของปัญหาได้ เกิดการแก้ไขตรงจุด พอมาตรวจซ้ำอีกทีไม่พบสารเคมีตกค้างแล้ว” อาจารย์ชนิพรรณยกตัวอย่าง
กระบวนการตามสอบย้อนกลับจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหา
และเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลกลางในประเทศ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้ประโยชน์
ในอีกทางหนึ่ง กระบวนการตามสอบย้อนกลับที่สามารถย้อนไปถึงแปลงปลูก จะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวในระบบการผลิตที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการปลูกที่ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภคมากขึ้น ในมุมของผู้ผลิตหรือเกษตรกรเองหากเกิดเหตุการณ์ตรวจวันนี้พบสารเคมีปนเปื้อนตกค้าง แต่เมื่อเดือนก่อนไม่พบ ขั้นตอนการตามสอบย้อนกลับจะช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้เช่นกัน คนปลูกจะรู้ได้ว่าปัญหาตกค้างมาจากไหน ขั้นตอนใด ในขณะเดียวกันหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น
¹ https://www.thaihealthreport.com/th/articles_detail.php?id=228 รายงานสุขภาพคนไทย ตัวชี้วัดสุขภาพ | พฤศจิกายน 2566
² ใช้ฐานข้อมูลของ FAO โดยตรวจสอบเทียบเคียงกับข้อมูลของอียู (eurostat) – เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) (https://thaipan.org/data/2412 , ข้อมูลเมื่อ 12 กรกฎาคม 2021, เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2024)
³ https://thaipan.org/data/2333, ข้อมูลเมื่อ 19 มกราคม 202, เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2024