แนวคิด “UCIKT: การสื่อสารความรู้แบบครอบคลุม
ที่มีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง”เพื่อการขับเคลื่อนนโยบาย

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล

Scientist , The Centre of Addiction and Mental Health (CAMH)

มสช. ชวนคิด | 7 กุมภาพันธ์ 2567 | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม



หลังผ่านเดือนมกราคมที่ยาวนาน เข้าต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ฤดูหนาวพัดผ่านเราไปอย่างรวดเร็ว เราก็ได้โอกาสพิเศษสัมภาษณ์ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล คุณหมอและนักวิจัยด้านนโยบายที่มากความสามารถคนหนึ่งของประเทศไทย ด้วยเหตุผลทางครอบครัว คุณหมอจำเป็นต้องไปทำงาน ณ Centre for Addiction and Mental Health ประเทศแคนาดา คุณหมอเคยดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนไทยหลายโครงการ การกลับมาประเทศไทยของคุณหมอมีไม่บ่อยนัก เราจึงไม่พลาดที่จะได้พูดคุยถึงอีกโครงการหนึ่งที่คุณหมอกำลังทำงานและพัฒนาต่อเนื่องร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่น่าสนใจในวิสัยทัศน์และรูปแบบการทำงานสำหรับนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และผู้สนใจงานด้านนโนยาย โครงการนี้มีชื่อว่า
“โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการทำงานหลายภาคส่วน ที่มีประสิทธิผล ปฏิบัติได้ และยั่งยืน เพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยวิธีการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง”



แม้ชื่อโครงการจะดูยาวเหยียด แต่ในข้อความระหว่างบรรทัดมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอยู่มาก จะ
‘ยกระดับการทำงานหลายภาคส่วน’ อย่างไร ? ‘วิธีการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง’ ทำแบบไหน ? และสุดท้ายจะเชื่อมกับ ‘ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง’ อย่างไรแล้ว ณ วันนี้ผลของการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 เป็นอย่างไร เรามาพูดคุยกับคุณหมอบัณฑิต ไปพร้อมกัน

NCDs ปัญหาโรคตายผ่อนส่งที่ส่งผลกระทบ

ทั้งเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ

เป้าหมายของโครงการฯ เพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งวันนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs มีอัตราความชุกมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว อายุของผู้เป็นโรคกลุ่มนี้ก็น้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันอายุเพียง 30 กว่าปีก็เป็นเบาหวาน ความดันสูงกันแล้ว และแม้จะพอทราบกันอยู่แล้วว่า NCDs เกิดเป็นโรคจากการสะสมพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิต ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในทันที แต่ NCDs กลับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 3 ใน 4 ของคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย การลดพฤติกรรมเสี่ยงแม้มีความรู้แต่ก็ยังปฏิบัติน้อย เมื่อเกิดโรคยังมีทางรักษา แต่เป็นการรักษาที่ยาวนานมีผลกระทบทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และภาพรวมของประเทศ

“ ปัญหาของ NCDs คือ การตายแบบผ่อนส่ง คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้สึกกลัวเท่าไหร่ หากเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือโรคอุบัติใหม่ แต่การเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน โรคไต คนส่วนมากให้ความรู้สึกว่าเป็นโรคธรรมดา แต่ถ้ามองกันดี ๆ ในทุก ๆ ครอบครัวจะมีใครสักคนเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว จริง ๆ แล้วการเสียชีวิตด้วยโรค NCDs มีจำนวนมาก แต่เราไม่ได้รู้สึกกลัวมากนักเพราะไม่ได้ทำให้เกิดการเสียชีวิตแบบกระทันหัน ….


ในเชิงเศรษฐกิจ การเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs ส่งผลกระทบในหลายปัจจัย ทั้งจากค่ายา ค่ารักษาพยาบาลที่ยาวนาน ค่าเสียโอกาสในการทำงาน การอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรงเต็มที่ อาจสร้างรายได้ไม่ได้ การที่ผู้ป่วยบางคนต้องมีผู้ดูแลพิเศษ คนในครอบครัวต้องหาเงินมาช่วยค่าดูแล ค่ารักษาพยาบาล การเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs ลดโอกาสทางเศรษฐกิจลง และหากเอาจำนวนคนที่ป่วยด้วย NCDs มาคูณ จะพบว่ามีตัวเลขทางเศรษฐกิจเยอะมาก ค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่เห็นเป็นก้อนใหญ่ ๆ แต่จ่ายยาวนาน เป็นค่าใช้จ่ายที่มหาศาลทั่วประเทศ สูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศด้วย เพราะคนทำงานไม่ได้และยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วย” คุณหมอบัณฑิต อธิบาย



เมื่อมาคิดย้อนดูอีกที ปัจจัยที่ส่งผลต่อโรค NCDs แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม แม้วันนี้ประชาชนรู้ว่าต้องกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้นแต่ผักและผลไม้มีสารเคมีตกค้าง หรือการเข้าถึงสถานที่ออกกำลังกายยังเป็นเรื่องยากและมีราคาที่ต้องจ่าย ความสะดวกสบายในชีวิตทั้งการซื้อกินซื้อใช้ที่ง่ายมาก บุหรี่และเหล้าหาซื้อง่าย เข้าถึงง่าย ราคาถูก และยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ทั้งขัดขวางและส่งเสริมพฤติกรรมเชิงลบต่อสุขภาพ การส่งเสริมให้ความรู้ในมุมของงานสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียวจึงยังไม่พอ หากจะป้องกันปัญหาให้ครอบคลุมรอบด้าน

เมื่อเป็นโรคพฤติกรรมและต้องปรับที่สิ่งแวดล้อม การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ

ปกติการเจ็บป่วยที่ผ่านมามองการแพทย์เป็นการรักษา แต่ NCDs เป็นโรคที่ไม่สามารถเอายาไปฆ่า เชื้อโรคได้ แต่เป็นพฤติกรรมที่นำพาไปสู่โรค และพบว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดการปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด เช่น การขึ้นภาษีเหล้า บุหรี่ ต้องคุยกับกระทรวงการคลัง การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการออกกำลังกาย ต้องคุยกับการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น จึงต้องทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการร่วมผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหา NCDs ในระดับประเทศอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา มีนโยบายระดับชาติในการป้องกัน NCDs และมีการขับเคลื่อนกันมาแล้วหลายปี แต่สำหรับ คุณหมอ มีมุมมองที่ว่า การขับเคลื่อนนโยบายนั้นสามารถทำในรูปแบบอื่นได้ด้วย คุณหมอบัณฑิตสะท้อนภาพความจริงที่เกิดขึ้นว่า

“วิธีดั้งเดิมไม่ใช่วิธีที่ผิด แต่ยังไม่พอ การ Top-Down เต็มรูป จะได้ผลถ้าเบอร์ 1 คือนายกรัฐมนตรี

มาประชุมด้วยตัวเอง รัฐมนตรีของทุกกระทรวงก็จะมาประชุมด้วยตัวเอง

ทำให้การขับเคลื่อนตามนโยบายเกิดได้เร็ว แต่ในความเป็นจริง มีเรื่องเร่งด่วนมากมายหลายเรื่อง

ที่นายกฯ ต้องจัดการ NCDs เป็นโรคที่เกิดจากการกินวันนี้แต่ส่งผลอีก 10 ปี ข้างหน้า

จึงถูกจัดอยู่ในลำดับความสำคัญรอง
อะไรที่เร่งด่วน สามารถทำได้ก่อน จึงให้ความสำคัญและทำก่อน”

การขับเคลื่อนนโยบายที่เกิดจากบนลงล่าง (Top – Down) ยังคงเป็นวิธีการที่สำคัญและเป็นใบเบิกทางให้เกิดการทำงานที่บรรลุถึงเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนด้วยกระบวนการทำงานลักษณะนี้ จะเกิดผลได้เร็วเมื่อผู้มีอำนาจสูงสุดหรือผู้มีสิทธิตัดสินใจเข้ามาร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจด้วยอย่างจริงจัง ซึ่งมักไม่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นการมองหากระบวนการ วิธีการทำงานรูปแบบอื่นที่สามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้ จึงเป็นมุมมองใหม่ที่ควรให้ความสำคัญ

การทำงานกับบุคลากรในระดับกลาง Middle Management หรือ “คนที่ใช่” ขับเคลื่อนคู่ขนานกับการทำงานกับผู้บริหารระดับสูง

“เราเสนอวิธีการทำงานที่แตกต่างออกไป” คุณหมอบัณฑิตกล่าว

ใน โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการทำงานหลายภาคส่วน ที่มีประสิทธิผล ปฏิบัติได้ และยั่งยืน เพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยวิธีการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง ดำเนินการโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติแห่งชาติ สนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มุ่งสร้างและสื่อสารความรู้ไปยังผู้ใช้ความรู้ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายของกระทรวงต่าง ๆ ด้วยแนวคิด การสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง : User-Oriented Comprehensive Integrated Knowledge Translation (UCIKT) ซึ่งมีหลักการทำงาน 3 ข้อที่สำคัญ คือ

1. ทำงานกับบุคลากรระดับ Middle management หาฉันทะร่วมกับคนที่ใช่
ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Manager) มีหน้าที่ในการรับนโยบายองค์กร นำไปวางแผน ถ่ายทอดสู่การปฏิบัติแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ และกำกับดูแลการทำงาน เพื่อให้บรรลุตามนโยบายและงานที่ได้รับมอบหมาย และยังต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองเห็นทิศทางในอนาคต (Foresight) ที่ตอบโจทย์ของบทบาทภารกิจขององค์กรนั้นๆ ด้วย ผู้บริหารระดับกลาง จึงเป็นคนสำคัญ (key person) คนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้นโยบายไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวังได้ นักวิชาการในแต่ละกระทรวง เป็น “คนที่ใช่” เป็นผู้มีบทบาทสื่อสารความรู้และนโยบาย รวมทั้งเป็นผู้ที่ใช้ความรู้เพื่อวางนโยบายในภารกิจของกระทรวง


“เราชวนมาคุยว่าเขา (กระทรวงอื่นที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข) อยากทำอะไรเพื่อแก้ปัญหา NCDs กระทรวงสาธารณสุข อยากให้สารพิษตกค้างในผักผลไม้ลดลง เพื่อลดสารก่อมะเร็งในร่างกาย และจะสามารถทำให้คนกินผักผลไม้มากขึ้นด้วยความมั่นใจ เราก็ไปชักชวน “คนในที่ใช่” ของกระทรวงเกษตรให้ช่วยกันดูเรื่องสารเคมีตกค้าง เมื่อพิจารณากระบวนการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่ามีการตรวจสอบสารพิษตกค้างตามขั้นตอนในผักและผลไม้บางชนิด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแปลงที่พบสารเคมีตกค้างอยู่ตรงไหน เพราะมีข้อมูลอยู่ในมือของหน่วยงานต่าง ๆ แบบแยกส่วน ไม่ได้ถูกจัดการให้เป็นข้อมูลของประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงสนใจในการพัฒนาระบบข้อมูลก่อนเพื่อจะไปวางแผนแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในประเทศได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการทำฐานข้อมูลให้ครบถ้วน” คุณหมอบัณฑิตเล่าประสบการณ์การทำงานประเด็นเกษตร


คุณหมอได้ให้มุมมองต่อไปว่า วิธีการแบบเดิมที่กระทรวงสาธารณสุขไปบอกกระทรวงอื่น ๆ ว่า ต้องทำแบบนี้แบบนั้นเพื่อแก้ปัญหา NCDs ไม่ใช่การทำให้กระทรวงนั้น ๆ มาร่วมทำงานด้วยความยินยอมพร้อมใจ ทำให้ยากที่จะสามารถเดินไปด้วยกันได้ตลอด แต่หากมุ่งผสานการทำงานที่ไปตอบโจทย์ที่สนใจร่วมกัน จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ทั้งกระทรวงสาธารณสุขเองและต่างกระทรวง (win-win situation) สิ่งนี้ถือเป็นการหา “ฉันทะร่วม” มาทำงานร่วมกัน ทำให้ภาคีรู้สึกสนุกมากขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เกิดเป็นภาคีกันด้วยหมุดหมายที่จะยกระดับการทำงานหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหา NCDs

2. ทำงานด้วยการสร้างความรู้โดยยึดผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง – User oriented

“ผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง” เป็น “มาตรการ (intervention)” ของโครงการวิจัยนี้ที่มองคนใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้งในการทำงานขับเคลื่อน เป็นผู้ที่ใช้ความรู้เพื่อวางนโยบายในภารกิจของกระทรวงต่าง ๆ ในการดำเนินงานของโครงการฯ ได้มีการชักชวนนักวิชาการอาวุโสของกระทรวง (senior ministerial officer) จากกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มามองหาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายงานของกระทรวงนั้น ๆแต่สามารถส่งผลถึงสุขภาพ แล้วทำกระบวนการสร้างความรู้ (production of knowledge) ครอบคลุมทั้งการสร้างความรู้ที่ชี้ให้เห็นปัญหาที่จำเป็นต้องมีนโยบายจากนอกภาคสาธารณสุขมาร่วมแก้ไข วิธีการสร้างความรู้เพื่อชี้แนะนโยบายนี้ ครอบคลุมทั้งการทบทวนวรรณกรรม (literature review) การสังเคราะห์ความรู้ (knowledge synthesis) จากงานวิจัยย่อย ๆ และข้อมูลที่มีอยู่เดิมในมือ ให้เป็นความรู้ในภาพใหญ่ที่สามารถชี้แนะนโยบายได้ จัดประชุม แลกเปลี่ยน พูดคุย ร่วมกันสร้างความรู้ และทำให้ คนในกระทรวงนั้น ๆเห็นปัญหาด้วยตนเอง และเกิดความรู้ที่ทำให้สามารถกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในรายละเอียดได้ การทำงานโดยยึดคนที่ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลางทำให้เกิดแรงจูงใจ จนเกิดความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องเพราะอยากเห็นผลสำเร็จจากงานนั้น ๆ

“ผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง” เป็น “มาตรการ (intervention)” ของโครงการวิจัยนี้ที่มองคนใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้งในการทำงานขับเคลื่อน เป็นผู้ที่ใช้ความรู้เพื่อวางนโยบายในภารกิจของกระทรวงต่าง ๆ ในการดำเนินงานของโครงการฯ ได้มีการชักชวนนักวิชาการอาวุโสของกระทรวง (senior ministerial officer) จากกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มามองหาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายงานของกระทรวงนั้น ๆแต่สามารถส่งผลถึงสุขภาพ แล้วทำกระบวนการสร้างความรู้ (production of knowledge) ครอบคลุมทั้งการสร้างความรู้ที่ชี้ให้เห็นปัญหาที่จำเป็นต้องมีนโยบายจากนอกภาคสาธารณสุขมาร่วมแก้ไข วิธีการสร้างความรู้เพื่อชี้แนะนโยบายนี้ ครอบคลุมทั้งการทบทวนวรรณกรรม (literature review) การสังเคราะห์ความรู้ (knowledge synthesis) จากงานวิจัยย่อย ๆ และข้อมูลที่มีอยู่เดิมในมือ ให้เป็นความรู้ในภาพใหญ่ที่สามารถชี้แนะนโยบายได้ จัดประชุม แลกเปลี่ยน พูดคุย ร่วมกันสร้างความรู้ และทำให้ คนในกระทรวงนั้น ๆเห็นปัญหาด้วยตนเอง และเกิดความรู้ที่ทำให้สามารถกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในรายละเอียดได้ การทำงานโดยยึดคนที่ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลางทำให้เกิดแรงจูงใจ จนเกิดความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องเพราะอยากเห็นผลสำเร็จจากงานนั้น ๆ



3. ใช้วิธีการสื่อสารความรู้แบบเข้มข้นครบวงจร


คือ การดึงเอาผู้ใช้ความรู้ (knowledge user) เข้ามาร่วมในกระบวนการสร้างและสื่อสารความรู้ตั้งแต่ต้นและตลอดกระบวนการ แทนที่จะสื่อสารความรู้ไปให้ผู้ใช้ความรู้ตอนจบกระบวนการสร้างความรู้แล้ว เป็นกิจกรรมการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุม (comprehensive knowledge translation activities) จากเดิมที่ปีหนึ่งมาประชุมกันครั้งหรือสองครั้ง ทำเป็นสรุปรายงาน เจอกันในที่ประชุมแล้วนำส่งให้ ต่างคนต่างไม่รู้จักกัน จะพบกันแค่สองสามชั่วโมงที่ประชุมกันเท่านั้น นอกจากจะไม่มีเป้าหมายร่วมกันในระดับฉันทะร่วมแล้ว ยังไม่เกิดความเป็นมิตรไมตรีต่อกันด้วย เมื่อต้องขับเคลื่อนงานด้วยกันไปข้างหน้าจะทำได้ยาก

ในโครงการฯ ใช้เวทีพูดคุยต่อเนื่องกันตลอดปี มีการพูดคุยกันในระหว่างผู้บริหารและนักวิชาการระดับกลางของแต่ละกระทรวง โดยมีนักวิชาการโครงการฯ อาจารย์มหาวิยาลัย เป็นคนกลางเชื่อมต่อ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นแบบนี้ ทำให้เห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ความเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก มีสัมพันธภาพ เห็นความสำคัญของงานร่วมกัน เกิดเป็นความร่วมมือมิตรไมตรี เป็นพันธมิตรเกิดขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (exchange efforts) การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือ ตลอดจนกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สร้างและผู้ใช้ความรู้ เป็นการสื่อสารตลอดทางของการดำเนินการวิจัยในโครงการฯ นอกเหนือจากประเด็นเนื้อหาที่สำคัญที่เป็นความรู้หลัก

นอกจากนี้ ยังมีการใช้วิธีการทำความรู้ให้เป็นเนื้อหาและรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย (เรียกว่า push efforts) การเอื้อให้เกิดการดึงความรู้ไปใช้ได้สะดวก (เรียกว่า efforts to facilitate user pull) โดยสร้างเครื่องมือ/กลไกรวบรวมความรู้ให้สืบค้นและดึงไปใช้ได้ง่าย/สะดวก ตลอดจนการมีทีมที่สามารถสังเคราะห์ความรู้แบบเร่งด่วนได้เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ความรู้แบบเร่งด่วนของผู้ใช้ความรู้ได้ และสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ (เรียกว่า pull efforts) ให้ผู้ใช้ความรู้ขวนขวายหาความรู้เพื่อนำไปใช้เอง เพื่อเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การปฏิบัติหรือการกำหนดนโยบายได้ การสื่อสารครบวงจรโดยเห็นความเป็นมนุษย์ในผู้ร่วมโครงการฯ ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันในระยะยาว

Knowledge Broker คนกลางที่ทำให้การสื่อสารความรู้ครบวงจร

ในระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ ได้เกิดข้อค้นพบหนึ่งซึ่งคุณหมอมองว่าเป็นเรื่องที่ระบบอาจไม่ใส่ใจ มองไม่เห็น แต่ทว่าสำคัญ คือ Knowledge Broker เมื่อมองคำว่า Broker ในทางการเงิน คือ คนกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขาย แต่เมื่อนำความเป็นคนกลางมาใช้กับเรื่องความรู้ ก็หมายถึงคนที่ทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันขึ้นมาได้ด้วยการจัดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีกระทรวงต่าง ๆ หนึ่งในข้อค้นพบในโครงการคือ คนกลางผู้ส่งต่อความรู้ (Knowledge Broker – KB) เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ และเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการต่าง ๆ เป็นคนบูรณาการข้อมูล สังเคราะห์ประเด็น แล้วสื่อสารกับคนที่เกี่ยวข้องให้รู้เรื่องได้ ชี้ผลของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่องค์กรนั้น ๆ ต้องการ และให้คำปรึกษา คำแนะนำในการวางนโยบาย หรือแนวทางการทำงานที่สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ไกล่เกลี่ยให้ผู้ร่วมทำงานเกิดความเข้าอกเข้าใจกันและกัน เป็นผู้รับฟังทุกฝ่าย เข้าใจทุกฝ่ายแต่มีพันธกิจในใจที่อยากให้เกิดการเชื่อมข้อมูลทำให้เกิดการทำงานร่วมกันขึ้นมาได้ เป็นผู้ร้อยข้อมูลความรู้จากผู้สร้างความรู้สู่ผู้ใช้ความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดขึ้นมาในระหว่างทางการดำเนินโครงการฯ
“คนกลางมีความสำคัญ คนที่ทำงานเชื่อมข้ามกระทรวงควรเป็นคนที่ไม่ต้องแบกรับภาระที่อยู่ในกรอบของกระทรวง ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งบทบาทที่สามารถเป็น Knowledge Broker ได้” คุณหมอบัณฑิตกล่าว
คุณหมอบัณฑิตกล่าว

3 หลักการทำงาน ภายใต้แนวคิด UCIKT

หลักการทำงาน 3 ข้อในเบื้องต้นนั้น อยู่ภายใต้ใจหลักสำคัญของ แนวคิด “UCIKT: การสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมที่มีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง” คือ การเลือกปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานกับ “คนในที่ใช่” ในกระทรวงต่างๆ โดยชักชวนกันมาทำข้อมูลที่จำเป็นเตรียมพร้อมเอาไว้
คำนิยามของตัวอักษรย่อใน UCIKT คือ
U – User-oriented คือ ผู้ใช้ความรู้ของการสื่อสารความรู้นั้น เป็นตัวตั้งในการสร้างและสื่อสารความรู้
C – Comprehensiveใช้กระบวนการสื่อสารความรู้ที่ครอบคลุมครบวงจร
I – Integrated บูรณาการดึงคนทำงานในกระทรวง (ผู้ใช้ข้อมูล) เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
KT – Knowledge Translation คือ การใช้ความรู้ผลักดันนโยบาย โดยเอาความรู้ในฝั่งวิชาการแปลไปให้คนในฝั่งบริหารและปฏิบัติการใช้ได้

ในด้านการทำงานขับเคลื่อนแบบ middle management ซึ่งทำกับผู้ใช้ความรู้ (User-oriented ) นี้เป็นการทำงานที่ควรทำคู่ขนานไปกับการกำหนดนโยบาย top-down ถึงแม้การทำงานแบบ UCIKT นี้ดูเหมือนจะเป็นการทำงานที่ช้าในช่วงแรก แต่หากทำสะสมไปเรื่อย ๆ จะได้ทยอยเก็บเกี่ยวผลในวันหน้า เปรียบเสมือนเป็นการปลูกต้นกล้าของไม้ยืนต้นรอไว้ เมื่อฝนมาต้นกล้าจะงอกเงยและเติบโตต่อไป

“หากเราเปรียบเทียบกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชการที่ 9 จะเห็นว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่มีการวางแผนไว้เป็นช่วง มีระยะเวลาในการดำเนินงาน ในระยะสั้น คือพืชที่ปลูกเพื่อกินในวันนี้ ในระยะยาวคือพืชที่ปลูกเพื่อเป็นไม้ยืนต้นไว้กินไว้ใช้ในวันข้างหน้า วันนี้เราปลูกต้นกล้ารอไว้ให้พร้อม วันไหนฝนตก คนเบอร์หนึ่งเรียกมาคุยขอดูข้อมูลก็มีพร้อมส่งให้เกิดนโยบายได้เลย”

คุณหมอบัณฑิตเล่าเปรียบเทียบ

การนำแนวคิด UCIKT ไปใช้ขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่

หากมองย้อนไปที่แนวคิดสำคัญของการทำงานแบบ UCIKT แล้ว จะเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ “ผู้ใช้ข้อมูล” ที่ “เป็นคนขับเคลื่อนงานของกระทรวงต่าง ๆ” จึงควรเลือกทำงานกับคนในที่ใช่ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง รวมถึงปรับเปลี่ยนมุมมองของการทำงานร่วมกันที่ต้องสร้างให้เกิดแรงจูงในสถานการณ์เอื้อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ภายใต้ความยินยอมพร้อมใจฉันมิตร มีความเข้าใจในข้อจำกัดของความต่างของภาคส่วนงานที่มีเป้าหมายของงานต่างกัน ไม่ผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมแบบฝืนใจ แต่หนุนเสริมให้เกิดความคิดร่วม เป้าหมายร่วม เป็นการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่มุ่งไปข้างหน้าร่วมกัน โดยมีสุขภาพของประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์ปลายทาง

“ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. ในพื้นที่ หรือท้องถิ่น ที่อยากทำงานในลักษณะที่ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ หลายหน่วยงาน ก็สามารถเอาหลักการไปใช้ได้ คือ
1) ฟังความต้องการคนอื่น ไม่ใช่ยึดความต้องการของเราอย่างเดียว
2 ) สร้างความรู้เพื่อให้เห็นภาพปัญหาและทางออกที่ชัดเจน
3) สร้างกระบวนการสื่อสารความรู้ให้ครบถ้วน มีคนกลางที่รับฟังทุกฝ่าย

เห็นใจทุกฝ่าย ผสานร่วมไปสู่เป้าหมาย ทำเวทีให้ดี ให้เป็นการสื่อสารสองทาง

คุณหมอบัณฑิต กล่าว

ก้าวต่อไปของโครงการฯ

ในโครงการระยะที่หนึ่ง นั้น เป็นการวิจัยว่า แนวคิดการทำงานแบบการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมที่มีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลางเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยผลจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอื่น ๆ รวม 3 กระทรวง จากผลการศึกษาในรอบนี้ทำให้เกิดความรู้ที่รู้ว่าปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่ตรงไหน แต่ยังสร้างความรู้ไปไม่ถึงจุดที่รู้ว่าจะต้องแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ดังนั้น ในการดำเนินงานโครงการระยะต่อไป จึงต้องไปถึงขั้นตอนการสร้างความรู้เกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหา และดำเนินการทดลองทำร่วมระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดความรู้ที่สามารถนำไปผลักดันนโยบายได้จริง

“ไอน์สไตน์บอกว่า เราไม่มีทางได้สิ่งใหม่ ถ้าเรายังทำวิธีการเดิม”

คุณหมอบัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย.