คุณภาพชีวิตแรงงานสูงอายุไทย ในภาคเกษตรกรรม
ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.วัชระ เพชรดิน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มสช. ชวนคิด | เรียบเรียงจาก Facebook Live Streaming “มสช.ขอคุย : 21 กันยายน 2566” | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม
ปี พ.ศ. 2566 วันนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย กล่าวคือ ประชากรในประเทศมีสัดส่วนของผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 20 และประมาณปี พ.ศ. 2575 ประเทศไทยจะเข้าไปสู่ไปสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด โดยมีสัดส่วน ผู้สูงอายุร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
จากสถิติแล้วดูเหมือนประเทศไทยในอนาคตจะมีผู้สูงอายุในประเทศเต็มไปหมด โครงสร้างของประชากรในสังคมไทยที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาประเทศในระยะยาว แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรทำ? เมื่อพละกำลังของวัยหนุ่มสาวจะหายไปและต้องหันมาใส่ใจกับผู้สูงวัยที่ยังคงต้องใช้ชีวิตให้มีคุณค่า
วันนี้เราพร้อมจะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกันกับสังคมผู้สูงอายุแล้วหรือไม่ นักวิชาการในประเทศได้มีการศึกษาแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องในห้วงระยะ 10 ปี ที่ผ่านมาเช่นกัน ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร และดร.วัชระ เพชรดิน สองนักวิชาการที่สนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นความเปราะบางของผู้สูงอายุไทยในอนาคต ได้มีข้อมูลที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟัง
อนาคตผู้สูงอายุไทย ส่วนใหญ่ไปอยู่ในภาคการเกษตร
ดร.ชลธิชา อัศวนิรันดร นักวิจัยประชากรศาสตร์และอาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าว่า เมื่อ 30-40 ปี ก่อนนี้ มีประชากรเกิดปีละหลายสิบล้านคน ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีวัยแรงงานในประเทศมาก แต่ปี พ.ศ. 2564 พบว่าอัตราการเกิดและการตายของประชากรไทยเท่ากัน นั่นแปลว่าอีก 20 ปี ข้างหน้าจำนวนวัยแรงงานที่จะเป็นเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะน้อยลงด้วย และแนวโน้มในอนาคตจำนวนประชากรจะลดลงเรื่อย ๆ
ทั้งนี้เมื่อมาพิจารณาดู แรงงานผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน ดร.ชลธิชา ได้ให้ข้อมูลจากการวิจัยศึกษาการทำงานของผู้สูงอายุไทยทั้งในระบบและนอกระบบ พบว่า ข้อมูลทั่วไปผู้หญิงมีอายุยืนกว่าผู้ชาย และจากตัวเลขของประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยในปัจจุบันที่ 12 ล้านกลม ๆ มีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในชนบทมากกว่าในเมือง และเป็นภาคนอกระบบ นั้นหมายความว่าเป็นผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใด ๆ ในส่วนนี้ครึ่งหนึ่งทำอาชีพเกษตร รองลงมาอีกร้อยละ 20 เป็นภาคบริการ ค้าขายส่วนตัวรวมถึงงานฝีมือ
“แนวโน้มของการทำงานในภาคการเกษตรของคนรุ่นใหม่ลดลง และคนที่อยู่ในระบบเกษตรเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งค่าตอบแทนในภาคการเกษตรมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท/เดือน น้อยกว่าภาคบริการครึ่งหนึ่ง” ดร.ชลธิชา กล่าว
จากข้อมูลนี้จะสังเกตได้ว่า ในภาคเกษตรกรกรรมของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับการสำรวจข้อมูลจากการสำมะโนการเกษตรและทะเบียนเกษตรกรจากกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์
อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อทำงานในระบบครบอายุเกษียณแล้วก็ไปทำงานด้านการเกษตรมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเกษตรกรแต่เดิมและยังคงทำต่อเนื่องจนถึงวัยสูงอายุ แต่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ไม่ได้เข้ามาสานต่อทำให้ภาคการเกษตรมีแรงงานผู้สูงวัยเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ด้ายรายได้ก็ดูจะยังสวนทางกับการกินดีอยู่ดีในชีวิตจริง ไม่นับการไม่อยู่ในระบบสวัสดิการที่มีความเสี่ยงเรื่องสุขภาพด้วย กลุ่มผู้สูงวัยในภาคเกษตรจึงสำคัญ
การพัฒนาเศรษฐกิจภาคเกษตรกำลังจะเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้เป็นคลังอาหารโลกแต่แนวโน้มสถานการณ์ชี้ออกมาว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่เดิม ด้วยด้านร่างกายที่มีความถดถอยไปตามวัย การรับรู้/การเรียนรู้ที่ต้องเป็นรูปแบบพิเศษ รวมถึงความต้องการด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับสภาวะทางกาย จึงเป็นประเด็นที่นักวิชาการหันมาสนใจศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความเปราะบางของผู้สูงอายุในภาคการเกษตร
เปราะบางซ้ำซ้อน ความสูงวัยในภาคการเกษตร
ดร.วัชระ เพชรดิน อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำงานวิวัยเรื่องการจัดการภัยพิบัติในบริบทต่างๆ ทั้งในการพัฒนาชุมชนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ และได้สนใจศึกษาด้านผู้สูงอายุศาสตร์กับการรับมือกับภัยพิบัติและกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในภาคการเกษตร ได้เล่าอธิบายถึงปัจจัยความเปราะบางในภาคการเกษตรว่า
“อีกนัยยะหนึ่งของความเปราะบาง คือ สิ่งที่หากเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถกลับไปจุดเดิมก่อนเกิดภัยได้ เช่น วันนี้เราเป็นปกติ แล้วเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาเราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ สำหรับกลุ่มเกษตรกรสูงวัยแล้วนับเป็นกลุ่มเปราะบางซ้ำซ้อน นอกจากร่างกายที่ร่วงโรยแล้วยังมีความเสี่ยงต่อภัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ภัยพิบัติ จากสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับที่เกษตรกรทั่วไปกำลังเจอ เมื่อย้อนกลับมาที่กลุ่มผู้สูงอายุ จะพบข้อจำกัดหลากหลายด้าน อันดับแรกคือการเรียนรู้และรับรู้ เช่น การเข้าไปฝึกอบรม การเข้าถึงเทคโนโลยี ที่มีทั้งสองด้าน คือการเท่าทันและการใช้เทคโนโลยีได้เต็มศักยภาพ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุอาจไม่สามารถใช้เทคโนโลยีการเกษตรได้จริง” ดร.ชลธิชา กล่าว
เมื่อวันนี้ระบบการเกษตรในประเทศไทยยังพึ่งพาสภาพภูมิอากาศอยู่ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในระบบการเกษตรควรจะต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนด้วย การเตรียมความพร้อมปรับตัวรับมือกับภัยพิบัติจึงจำเป็น แต่ยังต้องมองให้ครบในเรื่องของความเปราะบางด้วยทั้ง 4 มิติ จึงนำมาสู่การหากรอบแนวคิดที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาก่อนความเปราะบางเกิดขึ้น
“เมื่อพูดถึงความเปราะบางในภาคการเกษตร จะสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยดูจากปัจจัยในมุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เช่น เกษตรกรกับผลผลิต เกษตรกรกับสุขภาพสุขภาพกายใจ เกษตรกรกับสังคมคนในชุมชน เพื่อนบ้าน เกษตรกรกับสภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตที่ส่งผลถึงความปลอดภัย” ดร.ชลธิชา กล่าวเสริม
ดร.วัชระ ได้เล่ากรณีศึกษาที่น่าสนใจในประเทศเกาหลีใต้เรื่องการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มเกษตรกรผู้หญิงสูงวัย (2022) พบว่า เทคโนโลยีส่งผลตรงต่อโรคทางร่างกายที่เกิดจากการทำงาน ได้แก่ 1) โรคกระดูกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อแขน 2) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขา 3) โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลัง ปัจจัยสำคัญมาจากการใช้เทคโนโลยีเครื่องมือทางการเกษตรที่เวลาจับใช้เครื่องมือเครื่องยนตร์ แล้วมีการสั่นสะเทือน การที่ผู้สูงอายุจับเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อใช้งานและการยืนเป็นเวลานานก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดการปวดเมื่อยตามมา และผลกระทบเรื่องเสียงที่เกิดจากเครื่องยนตร์ที่ทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับเป็นอีกสาเหตุสุขภาพส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุอีกด้วย
จากตัวอย่างงานวิจัยทำให้เราพอเห็นภาพว่า การทำงานในชีวิตประจำวันโดยใช้อุปกรณ์เครื่องเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายก็สามารถส่งผลต่อความเปราะบางทางสุขภาพของผู้สูงอายุได้ ในสภาพการทำงานจริงที่ลึกลงไปมีรายละเอียดที่อาจส่งผลต่อความเปราะบางของผู้สูงอายุได้อีกมาก
ดัชนีชี้วัดความเปราะบาง เครื่องมือจำเป็นต่อการกำหนดนโยบาย
“ถ้าเรามาเก็บผลว่าอะไรทำให้เปราะบางอาจจะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาเพราะเกิดปัญหาแล้วมาจัดการ เพราะถ้าเกิดความเปราะบางขึ้นแล้วอาจจะไปแก้ไม่ทัน จึงต้องมีเครื่องมือเพื่อไปชี้วัดก่อนเกิดการเปราะบาง”ดร.ชลธิชา กล่าว
โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีความหลากหลายในปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น สภาพพื้นที่ ชนิดพืชที่ปลูก การจะออกนโยบายเพื่อป้องกันรองรับการแก้ไขปัญหาแต่ละพื้นที่จึงต้องมีความเฉพาะเจาะจง การศึกษาตัวชี้วัดความเปราะบางจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าความเปราะบางที่เกิดขึ้นแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่เพาะปลูกต่างกันอย่างไร จึงเป็นโครงการที่จะพัฒนาตัวเครื่องมือหรือตัวชี้วัดความเปราะบางของกลุ่มผู้สุงอายุในภาคการเกษตร ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น (Resilience) ให้เกษตรกรสูงอายุสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งอาจช่วยลดระดับความรุนแรงของผลกระทบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิต
“การมีเครื่องมือช่วยชี้วัดความต่างนี้จะช่วยให้มีเครื่องป้องกันและเตรียมความพร้อมได้ว่าเกษตรกรกลุ่มนี้มีความเสี่ยงแบบไหน
ดร.ชลธิชา กล่าว
ณ เวลานี้ โครงการวิจัยได้ดำเนินการอยู่ในเฟสที่ 1 ซึ่งเป็นการทดลองตัวเครื่องมือแบบสอบถามที่มั่นใจว่าจะสามารถใช้ได้กับผู้สุงอายุทุกช่วงวัย และแม้พื้นฐานการศึกษาที่ต่างกันจะสามารถเข้าใจได้ตรงกัน มีความครอบคลุมกิจกรรมการเกษตรทุกประเภท เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเครื่องมือนี้สามารถเก็บข้อมูลได้กับเกษตรกรผู้สูงวัยทุกกลุ่มทั่วประเทศได้จริง โดยมีในส่วนของข้อมูลทั่วไปและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเปราะบาง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สภาพแวดล้อม การตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และการปรับตัว ดร.วัชระ อธิบายว่า
“ด้านสภาพแวดล้อมในที่นี้รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ระบบการจัดการน้ำ ถนนเข้าถึง ไฟฟ้า น้ำประปา แต่ส่วนสำคัญคือการตอบสนองของผู้สูงอายุต่อเหตุการณ์ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ผู้สูงอายุใช้เวลาแค่ไหนต่อการตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ตัวอย่าง ถ้าวันนี้ขายผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ จะขายได้อีกครั้งเมื่อไหร่ และจะทำอย่างไร เราจะดูความเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ เช่น สามารถจัดการหาตลาดเพื่อระบายผลผลิต หรือการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อโพสต์ขาย ถ้าเกษตรกรมีวิธีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ช้าก็มีความเสี่ยงต่อความเปราะบางมากขึ้น เพราะผลผลิตทางการเกษตรส่วนมากมีอายุสั้น อีกประเด็นคือการปรับตัว พอเริ่มแก่ตัวการเรียนรู้ใหม่เป็นเรื่องยาก อาจจำได้บ้างไม่ได้บ้าง ในเชิงเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวต่อการผลิตได้หรือไม่ เช่น ถ้ามีการจ้างผลิตและต้องมีการตรวจสอบสถานที่การผลิต สามารถปรับตัวกับรูปแบบวิธีการใหม่ๆ ได้ไหม การปรับตัวที่ช้าโอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มผู้ผลิตก็จะน้อยไปด้วยส่งผลให้เกิดความเปราะบางด้านเศรษฐกิจแก่ผู้สูงอายุ เหล่านี้เป็นประเด็นคร่าวๆ ที่ตั้งไว้ ก่อนการลงไปเก็บข้อมูลจริง”
ดร.วัชระ เล่า
เมื่อมีการเก็บข้อมูลจริงจากพื้นที่แล้ว จะทำให้เห็นข้อมูลชัดขึ้นว่า เกษตรกรสูงวัยในภาคต่างๆ มีความเปราะบางมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงความปราะบางแต่ละด้านในรายละเอียดที่ลึกลงไป เช่น ความเปราะบางด้านเศรษฐกิจแท้จริงเกิดจากอะไร จากการเข้าถึงตลาดยากหรือปรับตัวได้ยาก ความละเอียดของผลการศึกษาจะทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และออกแบบนโยบายให้ตรงเป้าตรงจุดมากขึ้น
ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก (External Shock) โดยเฉพาะภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อม ( Preparedness ) ให้กับเกษตรกรสูงอายุจึงนับว่าเป็นประเด็นที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีนโยบายพุ่งเป้าไปที่เกษตรกรสูงวัยโดยเฉพาะ
“นโยบายเกษตรบ้านเรายังเป็นภาพกว้าง จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่เราต้องมองพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุในภาคการเกษตร ตัวอย่างในต่างประเทศ ประเทศจีนมีนโยบายรองรับเกษตรกรสูงวัยหน้าใหม่ ที่เพิ่งรีไทร์จากงานประจำในเมืองแล้วมาทำงานด้านการเกษตร โดยการจัดสภาพแวดล้อมดึงดูดให้คนที่เคยอยู่ในเมืองออกไปทำการเกษตรในช่วงสูงวัยในพื้นที่ชนบทได้อย่างมีความสะดวกสบาย”
ดร.ชลธิชา กล่าว
นอกจากเตรียมความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อมการอยู่อาศัยที่เอื้อต่อเกษตรกรสูงวัยหน้าใหม่แล้ว ยังส่งเสริมองค์ความรู้เกษตรสมัยใหม่ เกษตรทางเลือกอื่นๆ การเข้าร่วมเกษตรอินทรีย์ หรือการใช้นวัตกรรมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องให้ผู้สูงอายุเกิดความอยากไปทำ และรัฐจัดเตรียมพื้นที่ปลายทางให้ลองทำ ถ้าสนุกก็ทำกันต่อยาวๆ ในมุมหนึ่งเป็นการดึงแรงงานเข้าสู่ระบบการเกษตรให้มากขึ้น สำหรับในประเทศไทยมีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อกิจกรรมการเกษตรแต่เป็นรูปแบบกิจกรรมเสริมเท่านั้น หรือเป็นเชิงช่วยเหลือทดแทน ชดเชยรายได้เป็นการช่วยในระยะสั้น ซึ่งในระยะยาวควรมีโครงการที่วางเพื่ออนาคต
นโยบายเดียวอาจไม่ใช่ตำตอบที่ใช้ได้ทั้งประเทศ
แม้ประเทศไทยจะมีการเก็บข้อมูลมากแต่มีการเก็บแบบแยกกันตามหน่วยงานเป็นข้อมูลคนละถัง สิ่งที่ขาดคือการเอาข้อมูลมารวมกัน มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถเข้าถึงกันได้ และสามารถนำข้อมูลโดยรวมมาวิเคราะห์เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
“ถ้าเรามีข้อมูลมากพอจะนำไปสู่การทำประกันชีวิตให้เกษตรกร ซึ่งหลายๆ ประเทศทำแล้ว ข้อมูลที่เห็นถ้ามากพอจะทำให้เห็นความเสี่ยงที่ทำให้บริษัทประกันสามารถคำนวนออกมาเป็นรูปแบบประกันที่เหมาะสมกับเกษตรกรได้ ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเกษตรกรมากขึ้นใน ประเด็นนี้มีการถกกันเรื่องสวัสดิการที่ควรส่งเสริมให้บุคลากรด้านการเกษตรด้วย เช่น การคำนวนเบี้ยประกันที่ลดหย่อนตั้งแต่เริ่มต้นการปลูกเป็นต้น” ดร.วัชระ กล่าว
ทั้งนี้ในมุมของความยั่งยืนด้านการเกษตรของประเทศไทยในอนาคต ดร.ชลธิชา ได้เสนอแนวทางการมีส่วนร่วมกับกลุ่มช่วงวัยอื่นๆ การดึงคนแต่ละวัยมาช่วยผู้สูงอายุให้ทำไปด้วยกัน เป็นอักแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกลุ่มคนในภาคการเกษตรรูปแบบใหม่ และมีความเป็นไปได้ โดยสังเกตจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา วัยแรงงานที่ทำงานในระบบไม่ได้ ส่วนหนึ่งต้องกลับบ้านไปทำการเกษตรและไม่ได้กลับเมืองเพราะสามารถหารายได้จากพื้นที่ได้แล้ว ควบคู่กับการสนับสนุนระบบการเกษตรด้านการตลาด เอาเทคโนโลยีมาช่วยเสริมกับคนจะเสริมให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น
ในมุมมองของ ดร.วัชระ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รูปแบบการเกษตรต้องปรับเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี ที่ user friendly จะทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุด้านเกษตรมากขึ้น นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีก็จะช่วยมาเสริมให้เหมาะสมมากขึ้น ความท้าทายคือทำอย่างไรให้คนเก่าเกิดการปรับเปลี่ยนได้เร็ว และเติมคนรุ่นใหม่เข้าไปช่วยเหลือให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
“การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตในภาคการเกษตรให้กับผู้สูงอายุที่เป็นเกษตรกร เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้แล้ว รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในด้านสภาพแวดล้อม การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยในชนบทได้ง่ายขึ้น และระบบการบริหารในภาคนโยบายที่ให้คนท้องถิ่นบริหารตัวเอง เรายังสามารถใช้ทุนทางสังคมที่ยังคงมีความใกล้ชิดสนิทกันให้เป็นประโยชน์ได้ ตัวอย่างโครงการ young smart farmer เป็นโครงการที่มีการผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการเกษตรแบบเก่า ซึ่งเอาทั้งเทคโนโลยีมาใช้ให้สอดคล้องกับฐานทุนเชิงสังคมในแบบประเทศไทยได้”
ดร.วัชระ กล่าว
ในมุมมองของนักวิชาการทั้ง 2 ท่าน เห็นว่า ความเสี่ยงสำหรับเกษตรสูงวัยมากที่สุด อันดับหนึ่งคือด้านเศรษฐกิจ ที่เดิมมีความผันผวนอยู่แล้วและเกษตรกรเองก็ยากจะรับมือตามกลไกตลาด ด้านสุขภาพเป็นความเสี่ยงที่รองลงมา
ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นการส่งเสริมนโยบายพุ่งเป้าที่เกษตรกรสูงวัย ต้องร่วมทำงานกันทุกภาคส่วนและไม่ละเลยเสียงจากข้างล่าง ทั้งในสภาพปัญหาและความหลากหลาย นโยบายเดียวอาจไม่ใช่คำตอบที่ใช้ได้ทั้งประเทศ การรับเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ก็ต้องมีการรับอย่างกลมกลืนสอดคล้องกับวิถีชีวิตบริบทของท้องถิ่น เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่