ระบบข้อมูล : รากฐานของการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร

วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล

มสช. ชวนคิด | เรียบเรียงจาก Facebook Live Streaming “มสช.ขอคุย : 17 พฤษภาคม 2566” | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม

การมีงานทำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ประชากรวัยแรงงานทุกคนในประเทศพึงมี ในความหมายนี้รวมถึงประชากรที่เป็นคนพิการด้วย จากรายงานภาพรวมความทุพพลภาพโดยธนาคารโลก ได้ให้ข้อมูลการสำรวจว่ามีคนพิการทั่วโลกประมาณ 1,000 ล้านคนหรือร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดในโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ
ความพิการไม่ได้จำกัดเพียงคนที่พิการตั้งแต่กำเนิดเท่านั้น แต่รวมไปถึงความพิการที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง อาจเกิดจากอุบัติเหตุ โรคภัยหรือความเสื่อมของร่างกายจากความชรา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้คำนิยามของคำว่า “ความพิการ” (disability) ว่า หมายถึง ข้อจำกัดหรือการขาดความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมใด ๆ โดยวิธีการหรือโดยวิสัยของบุคคลทั่วไป เนื่องจากความบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ความพิการจึงเกิดขึ้นได้กับทุกคน สิทธิของคนพิการจึงเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ควรให้ความสำคัญ

เข้าถึงเท่าเทียม

หากมองไปที่การขับเคลื่อนให้เกิด “สังคมที่เป็นธรรมทางสุขภาพ : Health Justice” คนพิการเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องมีบทบาทในสังคมอย่างมีความหมาย สามารถที่จะรับผิดชอบต่อครอบครัวและชุมชนของตนเอง และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันกับสมาชิกอื่น ๆ ในสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.อาดัม นีละไพจิตร อาจารย์ภาควิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำงานขับเคลื่อน “โครงการกลไกการพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม” เป้าหมายเพื่อให้คนพิการได้รับการจ้างงานด้วยศักยภาพที่มี อย่างมีศักดิ์ศรี และสร้างความเข้าใจให้กับองค์กร/สถานประกอบการให้มีความเข้าใจ เปิดใจ และเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อคนพิการ และส่งเสริมจ้างงานคนพิการ อาจารย์อาดัมได้มาเล่าถึงแนวทางว่า การสร้างสรรค์สังคมคุณภาพที่คนพิการได้มีงานทำอย่างเท่าเทียมนั้น ทำอย่างไร

ปัญหาที่เกิดจากความพิการ

“ความจริงคือผู้พิการทั้งหมดสามารถทำงานได้ตามความสามารถเฉพาะบุคคล แต่ถ้าเราเอามาตรฐานของสังคมที่จ้างงานโดยวุฒิการศึกษาที่ขั้นต่ำปริญญาตรีตามแบบอย่างคนทั่วไป ซึ่งมีคนพิการแค่ร้อยละ2ของคนพิการทั้งหมด ซึ่งจะทำให้คนพิการขาดโอกาส ”
จากประเด็นนี้เพียงเรื่องเดียวอาจารย์อาดัมได้อธิบายเพิ่มให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ปัญหาของคนพิการมี 3 ด้าน หลัก ๆ ได้แก่ ปัญหาด้านสุขภาพ แม้คนพิการจะมีสิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใด ๆ ของรัฐได้ฟรี แต่ความพิการทำให้คนพิการหลายรายเข้าถึงการรักษาได้น้อยเพราะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงกว่าคนทั่วไป เช่น ค่ารถแท็กซี่เพราะไปรถเมล์ไม่สะดวกในกลุ่มผู้พิการทางร่างกาย หรือการต้องไปรอบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลานานใช้เวลาทั้งวัน ทำให้ผู้ดูแลคนพิการต้องลางานไปด้วย ทำให้สูญเสียรายได้ไปในบางราย
ด้านการศึกษา ประเทศไทยให้สิทธิการศึกษาสำหรับคนพิการฟรีถึงระดับปริญญาตรี แต่ในทางปฏิบัติหลาย ๆ โรงเรียนในระดับประถม-มัธยมศึกษา ยังไม่มีความพร้อมในการดูแลเด็กพิการ ครูยังไม่มีความรู้เฉพาะสำหรับการดูแล ทำให้ต้องปฏิเสธเด็ก กลายเป็นความเจ็บช้ำของครอบครัวที่ลูกไม่สามารถเข้าเรียนได้เพราะมีความแตกต่างจากเด็กปกติ และด้านการมีงานทำ ปัญหาการจ้างงานคนพิการ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเรื่องอื่นๆ จึงเป็นประเด็นว่าถ้าเราสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ เมื่อคนพิการมีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ จะส่งผลไปสู่เรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยมีจำนวนคนพิการ¹ ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการออกบัตรคนพิการ จำนวน 2,153,519 คน คิดเป็นร้อยละ 3.26 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ จากจำนวนดังกล่าวมากกว่า 7 ใน 10 คน ไม่มีงานทำ คนพิการส่วนมากจึงมีแนวโน้มที่จะประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การศึกษาน้อยลง ภาวะด้านสุขภาพที่แย่ลง ระดับการจ้างงานที่ลดลง และอัตราความยากจนที่สูงขึ้น เป็นปัญหาวนกลมที่เชื่อมโยงส่งผลกระทบสืบเนื่องกันมาตลอด

คนพิการทุกคนต้องมีงานทำ

“ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะสนับสนุนให้คนพิการมีรายได้..ได้อย่างไร มาตรการตามกฎหมายเป็นตัวกระตุ้นแต่วันนี้เราพยายามขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการด้วยการมองเห็นศักยภาพของคนพิการด้วยความสมัครใจ”
Mindset ที่มีต่อคนพิการ เป็นเรื่องที่สำคัญอันดับหนึ่งของของผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นการจ้างงานเพราะสงสารหรือสงเคราะห์ การตั้งคำถามว่าคนพิการจะทำได้ไหมในเชิงของความเป็นห่วงว่าจะสามารถทำงานภายใต้ความกดดันและเร่งรีบได้หรือไม่ทั้งที่เป็นการจ้างงานเพราะสงสารหรือสงเคราะห์ การตั้งคำถามว่าคนพิการจะทำได้ไหมในเชิงของความเป็นห่วงว่าจะสามารถทำงานภายใต้ความกดดันและเร่งรีบได้หรือไม่ รวมถึงการไม่รู้ว่าหากจะจ้างต้องมีขั้นตอนอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้ปิดโอกาสของการจ้างงานคนพิการ และพลาดการใช้ศักยภาพของคนพิการคนนั้นที่สามารถทำงานได้จริง ๆ

“ งานของเราคือการเข้าไปช่วย ร่วมทำงานเป็นทีมกับสถานประกอบการ
เพื่อให้ความรู้ว่าจะสามารถจ้างคนพิการได้อย่างไร ในรูปแบบกระบวนการต่าง ๆ
ทั้งบอร์ดเกม การอบรม พูดคุยทำให้คนในองค์กรมีความเข้าใจคนพิการมากขึ้น”

 

 

 

โครงการทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างคนพิการและสถานประกอบการที่สนใจจ้างงานคนพิการ โดยมีกระบวนการตั้งแต่ก่อนการจ้างงาน ไปสำรวจสภาพแลดล้อมโดยรวม การพูดคุยเบื้องต้นเพื่อสำรวจทัศนคติของผู้บริหาร พนักงานในสถานประกอบการที่มีต่อคนพิการ นโยบาย วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงลักษณะงานมีเรื่องใดที่เป็นข้อจำกัดสำหรับคนพิการ แล้วนำมาวางแผนการทำงานเพิ่มเติมในรายละเอียดบางส่วนที่อาจต้องมีการทำความเข้าใจเพิ่มเติมให้กับบริษัท ต่อมาคือการช่วยออกแบบภาระงานของคนพิการร่วมกับบริษัทให้เหมาะสมกับศักยภาพของคนพิการ และสำหรับคนพิการเอง บางคนไม่กล้าต่อรองหรือชี้แจงข้อจำกัดตนเองเพราะกลัวไม่ได้งาน หน้าที่ของโครงการคือสร้างให้บริษัทเข้าใจความพิการ ตรงนี้นำไปสู่สัญญาจ้างงานในภายหลัง จนถึงการติดตามผลช่วงทดลองงาน หากมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น โครงการก็พร้อมไปช่วยแก้ไขจนสามารถทำงานต่อไปได้แล้วจึงถอนตัวออกมา

การออกแบบงานที่เหมาะสมกับคนพิการคือสิ่งสำคัญ

สิ่งสำคัญที่อาจารย์อาดัมเอ่ยถึงอยู่เสมอคือ “การดีไซน์งานที่เหมะสมกับคนพิการ” ในมุมของคนพิการเอง ก็ต้องการการยอมรับจากสังคมเช่นเดียวกัน ข้อจำกัดบางประการที่เกิดจากความพิการเท่านั้นที่คนพิการทำไม่ได้ แต่ในเรื่องอื่น ๆ คนพิการมีความสามารถปกติ เช่น คนพิการทางการเคลื่อนไหว อาจมีข้อจำกัดด้านร่างกายแต่ด้านการสื่อสารและสติปัญญาไม่แตกต่าง หรือคนพิการในกลุ่มประเภทที่ 5 และ 6 ² ก็มีความสามารถเฉพาะที่เหมาะสมกับงานบางประเภทได้
“ในบางอาชีพโฟกัสอยากได้คนพิการทางสติปัญญาเท่านั้น เพราะเป็นกลุ่มที่สามารถทำงานที่ถูกกำหนดเป็นขั้นตอน มีความตรงต่อเวลา ทำงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การติดสติกเกอร์ที่บรรจุภันฑ์ น้อง ๆ กลุ่มนี้จะสามารถทำงานที่เป็นขั้นตอน มีความแม่นยำสูงมาก เสมือนเป็นแผนก QC นี่คือตัวอย่างการดีไซน์งานให้กับความพิการแต่ละประเภท”
คนพิการจึงสามารถทำงานตามศักยภาพของตนได้หากมีการออกแบบงานให้เหมาะสม

3 สิ่งที่คนพิการควรมีเพื่อได้งานทำ

คนพิการเองหากมีการเตรียมความพร้อมก็จะมีโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น ทักษะการทำงานของคนพิการก็สำคัญเช่นกัน คือ การเพิ่มทักษะที่ใช้ในการทำงานในองค์กรมากขึ้น เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำนักงาน ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ทักษะการทำงานกับคนในสังคม ทักษะด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ที่สามารถทำงานออนไลน์ได้ที่บ้าน จะเปิดโอกาสให้กับคนพิการได้มาก

“สำหรับคนพิการเอง ในวันนี้ต้องเริ่มเตรียมตัวเอง เพิ่มทักษะ ให้ตัวเองในด้านต่าง ๆ
รวมถึงความพร้อมทางด้านจิตใจ ทั้ง 2 เรื่องนี้
สามารถไปเรียนที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลได้

และสิ่งสำคัญคือหากคนพิการมีต้นทุนจากครอบครัวที่เข้าใจจะส่งเสริมให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้”

 

 

 

 

การจ้างงานเชิงสังคมของคนพิการ แนวทางการขับเคลื่อนโยบายและภาคประชาสังคม

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550³ กำหนดวิธีการเพื่อให้คนพิการได้มีการประกอบอาชีพไว้ 3 กรณี คือ รับคนพิการเขาทำงาน หน่วยงานใดที่มีบุคลากร 100 คน ต้องมีคนพิการ 1 คน (ตามมาตรา 33) หากไม่จ้างสามารถเลือกส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ตามมาตรา 34) หรือให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการโดยคนพิการหรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ (ตามมาตรา 35) รัฐกำหนดให้สถานประกอบการ ให้เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในทางกลับกันก็พบว่าการจ้างงานคนพิการในทางปฏิบัติยังมีน้อยมาก แม้กระทั่งในหน่วยงานของรัฐเอง จากข้อมูลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการ ยังคงต้องจ้างงานคนพิการที่ขึ้นทะเบียนอีกร้อยละ 87.79 ของจำนวนคนพิการที่ต้องจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐ

ในมุมนี้อาจารย์อาดัมได้เสนอมุมมองเพื่อแก้ปัญหาว่า


“ กฎหมายวางมาดี แต่กระบวนการใช้กฎหมายนั้นยังไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่


เพื่อให้เป็นประโยชน์กับคนพิการและสถานประกอบการเอง


เช่น แทนที่จะบริจาคปีละแสนกว่าบาท แล้วนำเงินตรงนั้น


มาสนับสนุนคนพิการให้ได้ทำงาน ช่วยอีกหนึ่งชีวิตได้มีโอกาส


โดยการทำงานร่วมมือกันในแต่ละองค์กร เป็นเครือข่ายทำงานร่วมกัน


เหมือนอย่างมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


ที่พยายามชวนคนที่มีศักยภาพทั่วประเทศมาขับเคลื่อนร่วมกัน”

และสิ่งสำคัญคือหากคนพิการมีต้นทุนจากครอบครัวที่เข้าใจจะส่งเสริมให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้”

การทำงานเป็นเครือข่ายเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญที่จะทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบข้อมูลกลางในลักษะ Open Data ที่มารวมกันจะช่วยเสริมให้เกิดผลลัพธ์ที่ใหญ่และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น การบูรณาการเป็นเรื่องที่สามารถประสานความร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ ได้
มีตัวอย่างปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเปิดคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานที่เป็นคนพิการ เป็นปีแรก (2566) จำนวน 11 อัตรา มีคนพิการสนใจสมัครคัดเลือกถึง 500 คน นับได้ว่าเป็นต้นแบบที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการ ก้าวข้ามภาพของการรับคนพิการมาทำงานเพราะความสงสาร แต่เป็นการรับเข้าทำงานด้วยศักยภาพที่แท้จริง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนพิการมีความกระตือรือร้นที่จะดูแลตนเองได้เช่นกัน
หากมองในภาพรวมทั้งประเทศ ตัวเลขการว่างงานของประชากรมากก็ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน การเพิ่มโอกาสการทำงานให้กับกลุ่มคนพิการ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพิ่มความมั่นคงต่อชีวิต ส่งเสริมคุณค่าเพิ่มความมั่นใจให้กับคนพิการให้มีความสามารถในการดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
โครงการกลไกการพัฒนาระบบการจ้างงานคนพิการเชิงสังคมพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงาน สถานประกอบการที่สนใจ อยากจะเริ่มต้น ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งคนพิการและผู้จ้างงานสามารถติดต่อได้ที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล หรือมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ.


ข้อมูลอ้างอิง

¹ ข้อมูล ณ วันที่ 31 เดือนธันวาคม 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

² ประเภทความพิการมี 7 ประเภท 1. พิการทางการเห็น 2. พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 3. พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 4. พิการจิตใจหรือพฤติกรรม 5. พิการทางสติปัญญา 6. พิการทางการเรียนรู้ 7. พิการทางการออทิสติก

³ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 โดย กรมจัดหางาน