แนวทางในการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อยกระดับบริการสุขภาพ และการศึกษาสู่คนไทย

นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์

เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

มสช. ชวนคิด | เรียบเรียงจาก Facebook Live Streaming “มสช.ขอคุย : 23 มิถุนายน 2566” | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม

จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด -19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องปรับตัวกับวิถีใหม่ รวมถึงการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการบริการสาธารณสุขนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีระบบบริการสุขภาพดิจิทัลหลากหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการรักษาโรคที่ต้องรวดเร็ว ฉับไว มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความพร้อมต่อการรับมือ ป้องกัน และรักษาโรคให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึงและเท่าเทียม ในขณะเดียวกัน ด้านการศึกษาเองก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อการเรียนรู้ของเด็ก ด้วยการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เด็ก ๆ จำเป็นต้องหยุดเรียนในโรงเรียนแบบปกติในช่วงระบาดของโรคโควิด-19
ณ วันนี้ในปี 2023 เริ่มมีความชัดเจนว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้ ช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กในทศวรรษที่ 21 ให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญในแวดวงการแพทย์และการศึกษา ที่สนใจและให้ความสำคัญว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาปรับ เปลี่ยนการบริการสาธารณสุขและการศึกษาให้ดีขึ้นได้ จากประสบการณ์ด้าน Healthcare IT ตลอดการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมาคุณหมอมีกรณีศึกษาและเรื่องเล่าที่น่าสนใจ


เทคโนโลยีดิจิทัลกับระบบการให้บริการสาธารณสุข

คุณหมอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ว่า “ผมเป็นหมออายุรกรรม ก็จะมีคนไข้โรค เบาหวาน ความดัน ไขมัน ที่เจอกันแทบทุกเดือนแล้วก็ไม่ค่อยหาย ก็เลยมีความสนใจว่า ถ้าหากเรายังเป็นหมอ เราคงทำงานไปจนตายเลย จึงสนใจเรื่องที่ทำอย่างไร เราถึงจะลดเวลาการทำงานลงไปได้”
ย้อนไปเมื่อ 20 ปี ก่อน บางท่านอาจได้เคยสัมผัสประสบการณ์การรอคอยพบหมอที่ยาวนานต้องไปรับบัตรคิว รอเรียกคิว ค้นหาแฟ้มประวัติบัตรคนไข้ กว่าจะได้เจาะเลือดก็หิวแทบเป็นลม แต่ปัจจุบันนี้มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้การเรียกแฟ้มประวัติคนไข้ได้ง่ายและรวดเร็ว สิ่งนี้เป็นหนึ่งในผลงานของคุณหมอก้องเกียรติที่ได้พัฒนามาแล้วกว่า 10 ปี
“เราเรียกว่าระบบบริหารโรงพยาบาล ระบบนี้ช่วยลดขั้นตอนการรอรับบริการ เพิ่มความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ เภสัชก็ไม่ต้องมาแกะลายมือหมอ กระบวนการทำงานที่เอาเครื่องมือมาใช้ ทำให้แพทย์ พยาบาลทำงานได้เร็วมากขึ้น หมอมีเวลามากขึ้น ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 90 กว่าแห่งทั่วประเทศ และ 300 กว่าแห่งใน กทม. ที่ใช้ระบบนี้” คุณหมอก้องเกียรติเล่า
ปัจจุบันเราจะพบเห็นว่ามีการพัฒนานาฬิกาดิจิตอลขึ้นมา รวมถึงเครื่องมือตรวจวัดทางการแพทย์หลายแบบ ทำให้มีข้อมูลเฉพาะบุคคลของคนไข้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก คุณหมอได้ยกตัวอย่างกรณีที่สัมพันธ์กับกระบวนการทำงานของแพทย์ว่าข้อมูลสำคัญอย่างไร
คนไข้ที่เห็นข้อมูลจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายกว่า ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นการรักษาก็ทำได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเช่นกัน “คนไข้บางคนมีนาฬิกาดิจิตอล เขาเอาข้อมูลการเดินมาให้เรา เราสามารถชี้ให้ดูว่า วันไหนเดินมากค่าน้ำตาลจะต่ำลง วันไหนเดินน้อยค่าน้ำตาลก็มาก ข้อมูลจะทำให้คนไข้เห็นภาพง่าย ยิ่งมีข้อมูลให้คนไข้มากขึ้นหมอเองก็อธิบายเขาได้ง่ายขึ้น”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ คนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน ไม่ร้ายแรงยังคงอยู่ในความดูแลของแพทย์ได้ ช่วยลดปริมาณหน้างานที่โรงพยาบาล แพทย์สามารถให้เวลากับคนไข้กรณีอื่นๆ ได้มากขึ้น
“คนไข้อาจไม่ต้องมาเจอเราบ่อยครั้งเหมือนแต่ก่อน ส่งข้อมูลมาให้เราดูได้ ไม่ว่าจะวัดความดัน เจาะน้ำตาล จากเดิมต้องมาเจาะวัดน้ำตาลนัดหมอ 12 ครั้งต่อปี อาจเหลือแค่ 3 ครั้ง หรืออาจจะเหลือแค่ปีละครั้ง เพื่อมาตรวจตาหรือตรวจเส้นประสาทต่างๆ คนไข้สามารถส่งข้อมูลทางมือถือได้ไม่ต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาล”
เพราะภารกิจของแพทย์คือช่วยคนไข้ประมวลผลและตัดสินใจ ยิ่งมีข้อมูลให้คุณหมอมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะมีคำอธิบายที่ชัดเจนให้คนไข้ได้มากขึ้นเท่านั้น คนไข้โรคไม่ติดร่อเรื้องรังมีจำนวนมากขึ้น การมานัดเพื่อติดตามเคสบางครั้งอาจพบหมอคนละคน แต่ข้อมูลของคนไข้แต่ละรายก็มีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโรคเหล่านี้ต้องมาติดตามเป็นระยะ ข้อมูลที่เป็นระบบเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้หมอแต่ละคนเข้าถึงข้อมูลคนไข้ได้อย่างรวดเร็วและดูได้ง่าย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ดีขึ้น
มุมนี้เชื่อมโยงไปถึงการให้คำปรึกษาติดตามคนไข้ ในด้านการรักษาส่งต่อก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลเครือข่ายได้ การส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลลูกข่าย มาพบผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลใหญ่ ก็สามารถส่งผลแลปการตรวจก่อนหน้านั้นมาได้ เมื่อได้รับการปรับยาเปลี่ยนยาได้เรียบร้อยก็สามารถกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ผลแลปก็สามารถส่งตามไปได้ด้วย

“ในการรักษาที่ส่งต่อมา ผลเป็นอย่างไรก็ทำให้หมอที่อยู่ปลายทางสามารถเรียนรู้ไปได้ด้วยได้ เคสนี้ปรับยาแบบนี้เพราะเหตุผลอย่างไร ข้อมูลก็วิ่งไปให้หมอที่ส่งมา ในกรณีนี้ในเชิงระบบได้ประโยชน์ตั้งแต่ตัวคนไข้เองได้เห็นข้อมูลตัวเองมากขึ้น ระดับโรงพบาบาลที่สามารถบริหารจัดการต่างๆ ได้ดีขึ้น ระดับเครือข่ายโรงพยาบาลเองก็สามารถดูแลกรณีส่งต่อกันได้ดีขึ้น เราไม่สามารถมีผู้เชี่ยวชาญในทุกพื้นที่ได้ การมีข้อมูลดิจิทัลทำให้เราส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ถึงกันได้ง่ายขึ้น”

เทคโนโลยีทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถดูคนไข้พร้อมกันหลายคนได้ โดยไม่ต้องมีภาระงานมากจนไม่ได้พัก ในขณะเดียวกันภาพรวมข้อมูลของคนไข้ ทำให้แวดวงการแพทย์เห็นทิศทางของโรคได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ก็พบความท้าทายด้วยเช่นกันว่า กระบวนการของโรคปัจจุบันเปลี่ยนไปไวมาก ยังไม่รวมถึงโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้น เวลามาแล้วมาไว การเกิดโรคต่าง ๆ เปลี่ยนแต่กระบวนการจัดการโรคยังไม่สามารถเปลี่ยนไปได้มากนัก แม้ในเชิงระบบใหญ่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
“โรคระบาดในปัจจุบันถ้าเทียบกับในอดีต มีความถี่มากขึ้นและมาเร็ว โรคระบาดหาโอกาสแทรกเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง และบางโรคก็ยังไม่หมดไป เช่น ไข้เลือดออกยังคงมีมาอยู่เรื่อย ๆ เทคโนโลยีจะช่วยให้เราเฝ้าติดตามสิ่งที่มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นี้ได้ ผมจะบอกเสมอว่า สิ่งที่เราต้องดูไม่ใช่แค่สิ่งที่วินิจฉัยในวันที่ตรวจ แต่เราต้องดูค่าแลปว่าคนไข้ตรวจแล้วพบโรคติดเชื้ออะไรบ้าง ถ้าค่ากราฟมันขึ้นมามาก ๆ มีมาเรื่อย ๆ เราต้องมีการสั่นกระดิ่ง เตือนเฝ้าระวังแล้วว่าจะเป็นโรคระบาดหรือเปล่า จากโควิด-19 ที่ผ่านมา จะเห็นเลยว่าถ้ากรุงเทพมีจำนวนไข้เท่านี้ จังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงภายใน 40 วันจะตามมา”
บทเรียนนี้ทำให้เห็นว่า โรคติดเชื้อจะแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการติดเชื้อจะค่อนข้างชัดและค่อนข้างแม่นยำ และทำนายได้ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าทุกโรงพยาบาลใช้ข้อมูลผลแลปจากห้องปฏิบัติการว่าเริ่มมีคนไข้อาการนี้เข้ามาจำนวนมากต้องเฝ้าระวัง กระบวนการแบบนี้เป็นการใช้ข้อมูลมาวางแผนติดตามและแก้ปัญหา


บทเรียนจากการแพร่ระบาดโควิด -19 นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดรูปแบบการบริการออนไลน์

ในห้วงเวลาที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดและบุคลากรทางการแพทย์ต้องรับมือกับเหตุการเฉพาะหน้าอย่างหนัก โรงพยาบาลไม่สามารถดูแลคนไข้ได้ทั้งหมด ในขณะที่มีคนไข้จำนวนมากที่สับสนว่าต้องทำอย่างไร แม้แค่เรื่องฉีดวัคซียังมีคำถามมากมาย ถ้าอยากรู้ต้องไปถามที่โรงพยาบาลหรือหมอที่รู้จักเป็นกรณีพิเศษ คุณหมอก้องเกียรติจึงคิดช่องทางให้บริการประชาชน ชักชวนบุคลากรทางการแพทย์ทุกแผน มาช่วยกันตอบคำถามให้กับประชาชนโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล เป็นแพลตฟอร์มทางไลน์ชื่อว่า Thai CoCare ซึ่งเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุดเร็วที่สุด เป็นกระบวนการอาสาสมัครที่ไม่เจอกันเลย มีการประชุมออนไลน์บ้าง มีทีมหลังบ้านที่ช่วยจัดการให้เรื่องการตอบคำถามคนไข้ให้เป็นในทิศทางเดียวกัน

“เป็นอาสาสมัครบุคลากรมาช่วย ประมาณ 2,000 คน เราจัด 200 คน เป็นหนึ่งหน่วยบริการ เป็นการบริการแบบออนไลน์ อัตราสูงสุดในตอนนั้นที่ดูแล 24 ชั่วโมง 4,000 คน บริการในทุกรูปแบบให้คำแนะนำ สอนการดูแลคนไข้ในช่วงวิกฤติเพราะคนไข้ไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้”

 

เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานแพลตฟอร์มนี้ได้ถูกพัฒนาเป็น แอพพลิเคชั่น “CoCare” ให้ประชาชนดาวน์โหลดใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีคู่มือการกักตัวสำหรับคนทั่วไป ประกอบด้วยคำแนะนำที่จำเป็นในการกักตัวอย่างถูกวิธี ข้อคำแนะนำเมื่อมีอาการ รวมถึงการบันทึกอาการและเฝ้าดูอาการจากบุคลากรทางการแพทย์ และบันทึกข้อมูลอาการและการเฝ้าระวังโดยบุคลากรทางการแพทย์ ให้ผู้กักตัวสามารถใช้แอพพลิเคชัน บันทึกอาการเองได้จากที่บ้าน โดยมีทีมบุคลากรทางการแพทย์เฝ้าระวังอาการจากบันทึกนี้ และให้คำแนะนำด้วยการส่งข้อความ โทรคุย และวิดีโอคอลกับเจ้าหน้าที่ ช่วยเชื่อมต่อระหว่างทีมอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ที่ต้องกักตัว คนไข้สามารถสังเกตอาการตัวเองอยู่ที่บ้าน ลดภาระของแพทย์และพยาบาลทำให้มีอุปกรณ์และเตียงเพียงพอสำหรับรองรับผู้ป่วยวิกฤติ
คุณหมอก้องเกียรติเล่าว่า “บทเรียนที่ได้คือคนไข้ต้องเข้าถึงเทคโนโลยีที่ง่ายที่สุด สั้นที่สุดได้ ต้องใช้ศาสตร์สาขาอื่น ๆ เข้ามาช่วยด้วย” เช่น ทีมวิศวะกรด้านโปรแกรม AI เข้ามาช่วยวิธีการอ่านค่าออกซิเจน คนไข้บางคนอ่านไม่เป็นก็ถ่ายรูปมาให้ AI อ่านให้ “โควิด-19 ทำให้ทุกคนรู้ว่าไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญ ต้องระวังความคิดของเรามาก ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนตามข้อมูลตามสถานการณ์”

“แชตบอท” เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามาแทนที่บุคลากรทางการแพทย์ ?

AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยในกระบวนการทางการแพทย์ได้หรือไม่ เช่น “แชตบอท” ที่สามารถตอบคำถามแทนบุคลากรทางการแพทย์ได้ สำหรับคุณหมอก้องเกียรติได้ให้มุมมองต่อ AI นี้ว่า
“แชตบอทคือกลไกการทำงานกับระบบ คือคุยกับหุ่นยนต์ ที่ทำหน้าที่ตอบคำถามให้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงระบบที่สำคัญกับ AI คือสอนให้ AI รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไรได้ด้วยความรู้เฉพาะ ตัวอย่างเช่น เราสอนให้ AI รู้ว่าคนรูปร่างแบบนี้ หน้าตาลักษณะแบบนี้ ชอบใส่เสื้อผ้าสีอะไร AI ก็จะจำแล้วแยกแยะคนแบบเดียวกันออกมาให้เราได้ หรือช่วงนี้คนชอบทำผมสีอะไร ข้อมูลนี้ก็จะเอาไปขายให้บริษัททำน้ำยาเปลี่ยนสีผมได้ ข้อมูลจะมาจากการที่คนโพสต์รูป สืบค้นคำในกูเกิ้ล ข้อมูลจะถูกเชื่อมโยงเบื้องหลังผ่านโซเซียลมีเดีย เพื่อใช้ในเชิงธุรกิจ นั่นทำให้เราเห็นสิ่งที่เราชอบหรือกำลังสนใจซ้ำ ๆ จากทั้งอินสตราแกรม เฟสบุ๊ค และมีผลการสำรวจชัดว่าหากเห็นซ้ำ ๆ 7 ครั้ง เราจะเกิดการตัดสินใจซื้อในที่สุด นี่คือเทคโนโลยี AI ที่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหลายท่านที่เห็นโฆษณา คอลลาเจนสมุนไพร ซ้ำๆ จนคิดว่า อ้อ น่าจะดีนะ ซื้อเถอะ ตกลงเราซื้อเพราะข้อมูลหรือถูกโปรแกรมนี้เกลี้ยกล่อม”
ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้ ณ วันนี้ AI สามารถไปอ่านความรู้เองได้ และจับวิธีคิดว่าเรื่องนี้มีกระบวนการคิดอย่างไรแล้วร้อยเรียงเป็นคำตอบ สิ่งนี้สำคัญอย่างไร คุณหมอได้อธิบายว่า
“อย่างเมื่อก่อนนี้ เราหาส้มตำทำอย่างไร ไปเซิจก็จะพบว่ามีวิธีการทำมากมาย เราต้องเลือกเข้าไปอ่าน แต่ตอนนี้ AI ที่เรียกว่า ChatGPT เมื่อเราเซิจว่าทำส้มตำ AI จะบอกมาเลยจากการที่ไปอ่านมาแล้ว รูปแบบเป็นการเสนอความรู้ที่ AI ประมวลมาแล้ว ไม่ใช่แค่การเสนอสิ่งที่พบ และเรามีแนวโน้มจะเชื่อมันมากขึ้น AI สามารถเลียนแบบวิธีคิดของคนได้แล้วทำให้คนเชื่อง่ายขึ้น AI อาจไม่ได้เสนอสิ่งที่ดีที่สุดแต่มันจะเสนอสิ่งที่รู้มา เช่น ถ้าเราไปถามหมอว่าคอลลาเจนดีไหม หมอคนนั้นตอบสิ่งที่เขารู้ และเราเชื่อในคำตอบนั้นโดยไม่ไปหาข้อมูลต่อ วิธีการแบบเดียวกันนี้ทำให้ต้องระมัดระวังว่าอาจทำให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต”
จากข้อมูลนี้ชวนให้คิดต่อว่า แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นผลดีหรือไม่อย่างไรในแวดวงการแพทย์ คุณหมอได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า คนไข้เองจำเป็นต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลด้วย ข้อมูลทางการแพทย์มีเพิ่มขึ้นเร็วมากแต่หลายๆ ข้อมูลยังไม่ได้รับการทวนสอบหรือยืนยัน หมอจะรักษาตามแนวทางการปฏิบัติที่ได้รับการยืนยันมาแล้วเท่านั้นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมเกิดผลกระทบต่อคนไข้น้อยที่สุด การส่งต่อข้อมูลที่เร็วเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้เช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้วคนไข้จะเป็นคนเลือกตัดสินใจที่จะไปรักษาด้วยวิธีการแบบใด ปัญหาที่คนไข้อาจเจอในอนาคต คือการเห็นข้อมูลที่นำเสนอขึ้นมา แล้วตัดสินใจไม่ได้แล้วเผลอไปเชื่อสิ่งที่ขึ้นมาอันดับแรก ๆ
ในอีกมุมหนึ่ง การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลจะเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี ในระบบสาธารณสุขทำให้คนทั่วไปเป็นหมอมากขึ้น มีการเข้าถึงระบบและดูแลตัวเองได้ เราไม่สามารถมีหมอมากมายมาดูแลรักษาได้หมดทุกคน วิธีที่ดีที่สุดคือการหาความรู้ การเก็บข้อมูลและการบันทึก เทคโนโลยีจะช่วยให้คนไข้เรียนรู้วิธีการตัดสินใจของหมอ คนไข้สามารถเรียนรู้กระบวนการรักษาได้ แต่ต้องถูกต้องและเป็นระบบ แพทย์มีกระบวนการรักษาคือ ตรวจวัด ประเมิน วินิจฉัย และทำการรักษา กระบวนการจะเป็นแบบนี้ซ้ำ ๆ วันข้างหน้าโรคทั่วไป โรคติดต่อที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย คนไข้จะสามารถตรวจเองได้ ดูแลตัวเองได้ หรือในอนาคตเราอาจสามารถมีไอซียูอยู่ที่บ้านได้โดยมีคุณหมอคอยมอนิเตอร์อยู่เพื่อให้คนไข้ที่เจ็บป่วยเรื้อรังสามารถจากไปอย่างสงบท่ามกลางคนที่รักได้


เทคโนโลยีดิจิทัลในมุมของการศึกษา

สิ่งที่คุณหมอก้องเกียรติสนใจคือการเรียนรู้ของเด็กและของผู้ใหญ่ โดยสนใจว่าเด็กไทยทำไมเรียนหนัก เรียนเหนื่อย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จได้จริง อีกประเด็นหนึ่งคือความรู้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความทันสมัยตลอดเวลา ในวันนี้เด็กยังต้องเรียนตัวความรู้อยู่หรือไม่ สิ่งที่เราเรียนในวันนี้จะเอาไปใช้ได้อย่างไร
งานของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนใจว่าอะไรคือสิ่งที่จะพัฒนาครูและการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต ซึ่งพบว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่ความรู้ แต่คือการพัฒนาทักษะ ได้แก่ ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ ทักษะในการคิด ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม ทักษะการสื่อสาร เพราะถ้ามีทักษะเหล่านี้เด็กจะกลับมาหาความรู้ได้ แต่ความยากของเรื่องนี้คือ การสร้างทักษะต้องใช้เวลาและต้องใช้คนที่มีทักษะสอนคนที่ไม่มีทักษะ เมื่อถึงตรงนี้เป็นคำถามต่อว่าคนที่สอนมีทักษะหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ยังไม่สามารถทำได้ในวันนี้คือการประเมินทักษะทั้งของเด็กและครู จึงพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ ติดตามประเมินทักษะโดยตัวปัญญาประดิษฐ์ ให้เข้ามาวิเคราะห์แผนการสอนของครูว่าสะท้อนทักษะอย่างไรได้บ้าง และไปวิเคราะห์งานของเด็กที่ส่งการบ้านมาว่าสะท้อนทักษะใดที่เด็กได้เรียนรู้
“เด็กสมัยนี้เขาพิมพ์งานส่งกันแล้ว เราจึงเอาการบ้านเขามาดูได้ เราไปดูแผนการสอนของโรงเรียนลำปรายมาศพัฒนา เราเอาแผนการสอนของครูตั้งแต่ ป.1-ป.6 เอาเครื่องมือมาวิเคราะห์ เราพบว่า เราเห็นกระบวนการในการใส่ทักษะที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก จากตัวอย่างที่พบคือ เด็ก ป.1 ที่โรงเรียนจะเอาครูที่เก่งที่สุดมาดูแลเด็ก เพราะยังเป็นเด็กเล็ก ครูที่เก่งก็จะจัดหนักจัดเต็ม แผนการสอนของครูมี critical thinking (ทักษะกระบวนการคิด) สูงมาก แต่พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัยคือ 7-8 ขวบ พอเราเอาภาพนี้ให้ครูเห็น ครูก็ยอมรับ เราก็ชวนกันเปลี่ยนไปเพิ่มทักษะทางสังคมให้เด็กดีกว่า ทำให้กระบวนการเรียนการสอนได้ปรับให้สอดคล้องกับปัจจัยในห้องเรียนมากขึ้น แต่เดิมกระบวนการนี้ มีครูศึกษานิเทศก์อ่านแผนการสอนให้ แต่ครูศึกษานิเทศก์เหมือนหมอ คือมีจำนวนไม่มาก ตัวเครื่องมือจึงช่วยในเรื่องนี้ได้”
อีกโจทย์หนึ่งคือการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่มซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้ตามความสนใจแตกต่างกัน เด็กกลุ่มหนึ่งสามารถมีสมาธิหยุดนิ่งกับการสอนของครูได้ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งไม่สามารถฟังการบรรยายได้ คุณหมอได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปประชุมสัมมนาในต่างประเทศซึ่งโรงเรียนได้พบว่า เด็กสมาธิดีจะจับกลุ่มกันเรียนหน้าห้องและทำงานเสร็จเร็วกว่า ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งจะจับกลุ่มอยู่หลังห้องทำงานเสร็จช้ากว่าแต่กลุ่มที่ทำงานเสร็จแล้วก็จะวิ่งเล่นทำให้กลุ่มที่ทำงานช้า ช้ากว่าเดิม จึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการชั้นเรียนโดยทุกเช้าเด็กจะต้องไปดูว่าวันนี้จะต้องนั่งเรียนจับคู่กับใคร ซึ่ง AI จะเป็นผู้จับคู่ให้โดยวิเคราะห์จากวิชาที่เรียนกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน สามารถช่วยให้เด็กเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กทั้ง 2 กลุ่ม เป็นการพัฒนาทักษะทางสังคม การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เอาจุดแข็งของแต่ละคนมา เด็กจะเรียนรู้ว่าเพื่อนมีความเก่งต่างกัน วิธีการเรียนรู้แต่ละคนต่างกัน เอื้อให้ครูทำงานง่ายขึ้น ครูจะเข้าใจเด็กมากขึ้นด้วย สร้างความไว้ใจให้กับครูที่มีต่อเด็กด้วยว่ากระบวนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนต่างกันแต่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์เดียวกันได้
การออกแบบโปรแกรมที่ประมวลแผนการสอนให้กับครูได้จะช่วยสร้างโอกาสให้การศึกษาเท่าเทียมและเป็นธรรมยิ่งขึ้นแก่สังคม

“ถ้าเราประมวลแผนการสอนเป็นโปรแกรมดิจิตอลได้ ครูสามารถดึงแผนการสอนนี้มาใช้ให้เหมาะสมกับเด็กของตัวเองได้ ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพ เหมือนหมอที่อยู่ที่ไหนก็สามารถตรวจคนไข้ได้ เป็นแนวทางยกระดับการศึกษา เพราะสิ่งที่เด็กทุกคนได้เท่ากันคือเวลา แต่สิ่งที่เด็กบางส่วนไม่ได้คือโอกาสเข้าถึงเวลาที่สั้นที่สุดที่จะสร้างทักษะที่สำคัญ เช่น เด็กต่างจังหวัดขาดโอกาสไปติว การติวคือการพัฒนาทักษะอย่างหนึ่ง”

คุณหมอก้องเกียรติอธิบาย

การเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัย

อีกประเด็นหนึ่งที่คุณหมอก้องเกียรติให้ความสนใจคือการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ ในเชิงที่ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สิ่งที่ท้าทายมากคือ ความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิตในวัยเกษียรณ เราเรียนหนังสือในระบบมา 20 ปี แรกเพื่อไปใช้ชีวิตอีก 40 ปีในการทำงาน จนถึงอายุ 60 ปี แต่ในอีก 20 ปีต่อไปจนถึงอายุ 80 ปี เราไม่รู้ว่าเราต้องทำอย่างไร

“ความรู้ในช่วงนี้สำคัญที่ต้องเริ่มทำงานกับคนวัย 40-50 ปี เราควรจะต้องมีโรงเรียนสำหรับช่วงชีวิตแบบนี้ไหม? ไม่ว่าจะเป็นในเชิงระบบหรือการเรียนรู้ด้วยตนเอง”

รวมถึงความสามารถทางเศรษฐกิจ เราจะกินอยู่อย่างไร ค่าครองชีพ การดำรงชีวิต การเข้าถึงอาหารที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย ผู้สูงอายุกลับเข้ามาทำงานในระบบได้หรือไม่โดยการประเมินตนเอง ที่ fit to work จะมีกลไกเชิงระบบให้ผู้สูงอายุถูกประเมินอย่างเป็นระบบที่เหมาะสมต่อสมรถนะตามช่วงวัยได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ยังคงต้องถกคิดและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสังคมต่อไป
เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุดนิ่ง ประเด็นทางสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน แนวทางของการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีในด้านต่าง ๆ เป็นความท้าทายที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อนเชื่อมโยงการเข้าถึงข้อมูลภาพรวมในทุกแง่มุมของสังคม เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับไปสู่สิ่งใหม่ โอกาสใหม่ และเข้าใกล้สังคมที่เป็นธรรมต่อทุกคน.