นโยบายการคลังสุขภาพในไทย : เส้นทางสู่การเข้าถึงบริการและความยั่งยืน
ดร. อังสุมาลี ผลภาค ภาควิชาสังคมและสุขภาพ
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เราอาจเคยได้ยินเรื่อง “เงินคงคลัง” (Treasury Balance) ซึ่งหมายถึง ปริมาณหรือจำนวนเงินสด หรือสิ่งใกล้เคียงเงินสดที่เป็นรายได้เหลือจากการใช้จ่ายของรัฐบาลในการดำเนินการของรัฐซึ่งถูกเก็บสะสมไว้ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ว่าเป็นภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่างๆ ค่าปรับ เงินกู้ หรือเงินอื่นใด ซึ่งส่งเข้าบัญชีเงินคงคลังหรือคลังจังหวัด เปรียบเสมือนเป็นเงินออมของประเทศ ในมุมของระบบสุขภาพก็มี การคลังสุขภาพ (Health financing) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของระบบสุขภาพด้วยเช่นกัน
เป็นที่น่าสนใจว่า การผ่านวิกฤติสุขภาพในห้วงเวลายากลำบากที่ผ่านมานั้น ระบบสุขภาพในประเทศไทยต้องพบกับเรื่องราวและบทเรียนอย่างไรบ้าง
ดร. อังสุมาลี ผลภาค อาจารย์ประจำ ภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยประจำโครงการการเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดโควิด -19 ในประเทศไทย โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายภาพรวมด้านสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และศึกษากลไกการตัดสินใจด้านงบประมาณและพัฒนาการของกลไกการตัดสินใจเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงปี 2563-2565 ดร. อังสุมาลี ได้มาเล่าถึงผลที่ได้จากงานวิจัยและภาพรวมบทเรียนด้านการคลังสุขภาพ
การคลังสุขภาพ (Health financing) หนึ่งในองค์ประกอบของระบบสุขภาพ
อันดับแรกที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เห็นภาพรวม คือ องค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพประกอบไปด้วย 1) การให้บริการ 2) บุคลากร 3) ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ 4) ยา เวชภัณฑ์และเทคโนโลยี 5) ระบบการคลังด้านสุขภาพ และ 6) ภาวะผู้นำและธรรมภิบาล เป้าหมายของระบบสุขภาพทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นและมีการคุ้มครองความเสี่ยงทางการเงินที่ต้องใช้จ่ายเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ โดยมีกลไกการคลังที่เข้มแข็ง มีบุคลากรดี มีความพร้อมในจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีระบบสารสนเทศที่ครอบคลุมและใช้เป็นฐานในการตัดสินใจเชิงนโยบายได้
“หากให้เข้าใจง่าย คือให้ผู้ใช้บริการทางสุขภาพไม่เกิดการล้มละลายทางการเงินจากการใช้บริการทางสุขภาพ” ดร. อังสุมาลี กล่าว
การเงินการคลังสุขภาพ มีความจำเป็นต่อระบบสุขภาพ เสมือนเป็นกองทุนการันตีว่าในยามวิกฤติใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากเกิดโรคแพร่ระบาดใหม่ เราจะมีเงินสำหรับดูแลค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐจำเป็นต้องมี การเงินการคลังสุขภาพ (Health financing) เพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชนและการให้บริการที่สอดคล้องกับความต้องการ ที่ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพที่เป็นธรรม
ถ้าลองกลับมาพิจารณาถึงเงินที่นำมาใส่ในการเงินการคลังสุขภาพ เราอาจมองว่าเงินที่มาใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชนของรัฐมาจากไหน ในบริบทของประเทศไทยส่วนใหญ่จะมาจากภาษี แต่ในความเป็นจริงแล้วมาจากทางอื่นด้วย เช่น เงินสมทบผู้ประกันตน การจ่ายเงินเองจากการไปซื้อยาที่ร้านขายยา อีกแหล่งหนึ่งคือเงินบริจาคจากครัวเรือนหรือภาคห้างร้าน เป็นการมองการเงินในภาพรวม
การเงินการคลังสุขภาพ แตกต่างกับงบประมาณสาธารณสุขอย่างไร
การเงินการคลังสุขภาพมีความแตกต่างกับงบประมาณสาธารณสุข คือ งานสาธารณสุขเป็นงบประมาณที่สนับสนุนโดยรัฐช่องทางเดียว แต่การเงินการคลังสุขภาพจะมองที่มาของเงินด้านอื่น ๆ ด้วย ที่จะส่งผลกระทบต่อการเงินการคลังสุขภาพและเป็นการมองในระดับภาพรวม
ดร. อังสุมาลีได้ยกตัวอย่าง “เราอาจจะนึกถึงระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยซึ่ง มี 3 ระบบ คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
ซึ่งทั้ง 3 ระบบนี้มีการรวมเงินเป็นลักษณะกองทุน แต่ที่มาของเงินในกองทุนนี้แตกต่างกัน สำหรับระบบสวัสดิการข้าราชการเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐโดยตรง ระบบประกันสังคมเป็นการจ่ายเงินสมทบเพื่อประกันตนของคนวัยทำงานร่วมกับนายจ้าง ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นงบประมาณจากรัฐด้วยเช่นกันแต่ประชาชนมีส่วนในการจ่ายร่วมด้วย 30 บาท
เมื่อเรามองเห็นที่มาของการรวมเงินในกองทุนนี้แล้ว เราจะนำมาคิดว่า ใครจะมีส่วนเกี่ยวข้องใช้จ่ายอยู่ในกองเงินนี้บ้าง ตรงนี้จะเชื่อมโยงไปสู่คนที่จะมีส่วนเข้ามาใช้เงิน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุอาจจะมีความเสี่ยงในการใช้เงินในกองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่ากลุ่มอื่น เพราะเริ่มมีอาการของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากและมีระยะยาวนานในการรักษา ก็จะทำให้กองทุนมีความเสี่ยงจะล้มละลายได้หากมีกลุ่มคนจำนวนนี้เป็นสัดส่วนที่มากในกองทุน
ตัวอย่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี จะมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติกองเดียว คล้ายระบบประกันสังคมแต่จะมีเงินสมทบจากรัฐบาลด้วยบางส่วนเพื่อทดแทนสำหรับคนกลุ่มที่มีรายได้น้อย จะเห็นว่าลักษณะการรวมเงินจะเป็นกองเดียวในภาพรวมทั้งประเทศจึงมีการเฉลี่ยความเสี่ยงมากกว่าเพราะมีการรวมเงินจากคนทุกกลุ่มอายุไว้ด้วยกัน
ดร. อังสุมาลี อธิบาย
สิ่งเหล่านี้เป็นการมองภาพรวมเส้นทางการเงินที่เกี่ยวของกับการดูแลสุขภาพของประชาชน ว่าวันนี้ประชาชนไทยมีความสามารถในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างไร ความเสี่ยงของการต้องใช้จ่ายเงินเพื่ออุดหนุนดูแลสุขภาพของประชาชนมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และหากเกิดเหตุวิกฤติฉุกเฉินทางสุขภาพจะสามารถนำเงินจากส่วนใดมาจัดการ ซึ่งย้อนกลับไปว่า การเงินการคลังสุขภาพนั้น จำเป็นต้องพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมดของเงิน ส่วนงบประมาณสาธารณสุขนั้นเป็นงบจัดสรรที่ถูกตั้งไว้เพื่อการบำรุงบริหารงานสาธารณสุขในประเทศ
การเงินการคลังสุขภาพกับความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางสุขภาพ
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับการส่งเสริมให้เกิดขึ้นในทุกประเทศ เพราะสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ทั้งการส่งเสริม การป้องกัน และการฟื้นฟู คนสามารถไปใช้บริการที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนมาก เมื่อไม่มีความเสี่ยงทางการเงิน ทำให้คนสามารถไปใช้บริการได้ จะเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่จำกัดว่าคนคนนั้นจะมีรายได้มากหรือน้อย และการที่มีระบบการคลังสุขภาพที่ดีจะกระตุ้นการบริการสุขภาพที่ดีด้วย ไม่เป็นภาระทางการเงินของประชาชน
แต่การเงินการคลังสุขภาพยังต้องพิจารณาในหลายแง่มุม ในอีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีวันนี้ก้าวหน้าไปมากทำให้เกิดสถานการณ์ว่า ในการเปลี่ยนผ่านประชากรเข้าสู่สังคมผู้สุงอายุซึ่งสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ คนอายุยืนยาวขึ้นแต่สุขภาพไม่ดีต้องทานยาไปตลอดชีวิต สิ่งนี้กระทบต่อความยั่งยืนทางการคลังได้
ดร. อังสุมาลี ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “เนื่องจากเรามีแหล่งเงินหลักๆ จากภาษี ในอีกมุมหนึ่งถ้าผู้สูงอายุสุขภาพดีภาระทางการคลังจะลดลง ก็จะนำไปสู่แนวคิดว่า เราควรต้องไปทำงานส่งเสริมป้องกันและระบบบริการปฐมภูมิเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนดูแลสุขภาพเองได้ดี ช่วยลดภาระเจ็บป่วยเรื้องรังระยะยาว แม้ของประเทศไทยจะมีระบบประกันสุขภาพโดยภาพรวมสิทธิประโยชน์ของทั้ง 3 สิทธิครอบคลุมคนทุกกลุ่ม แต่ในการเข้าถึงจะเป็นมุมมองในอีกมิติหนึ่ง การป้องกันแต่เนินๆ สามารถลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้มากกว่า” พฤติกรรมสุขภาพของประชากรในประเทศนั้นๆ มีผลต่อความมั่นคงในระบบการคลังสุขภาพ
การคลังสุขภาพของไทยเป็นอย่างไร ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา
แหล่งงบประมาณหลักที่ประเทศไทยใช้ในการตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ งบประมาณรายจ่ายงบกลางซึ่งเป็นงบสำรองสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ในช่วงต้นของการแพร่ระบาด ต่อมาจึงมีเงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเงินภาคเอกชนและครัวเรือนเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นแหล่งเงินนอกงบประมาณ
ช่วงปี 2563-2565 มีการใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขไป 440,000 ล้านบาท รวมจาก 3 แหล่งได้แก่ งบกลาง เงินกู้และกองทุนประกันสังคม จ่ายลงไปกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลมากที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน รองลงมาคือค่าวัคซีน และอันดับสามคือค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์เป็นค่าเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และในแต่ละพื้นที่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ซึ่งปรับเปลี่ยนกันไป ซึ่งการใช้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาตามสถานการณ์นี้พบว่ามีประเด็นสำคัญที่เป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย
“ระบบระเบียบที่ผ่านมาจะเริ่มจากในระดับหน่วยงานไปที่กระทรวงแล้วไปผ่านอนุกรรมการแล้วจึงไปเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะทำให้ล่าช้า ในมุมของกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างแม้จะเป็นในสถานการณ์เร่งด่วนก็ยังใช้ระบบเดิม คือต้องมีการเสนอแบบ ทำแบบ ซึ่งต้องใช้เวลา ซึ่งจุดนี้ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า” ดร. อังสุมาลีเล่า
อีกประเด็นสำคัญคือการจัดหาวัคซีนมีข้อติดขัดในกฎระเบียบการใช้เงินในทางปฏิบัติ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการจัดหาวัคซีนล่าช้า “การที่เราจะได้วัคซีนจะต้องจองเพราะมีเรื่องของขั้นตอนการผลิต แต่ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างเราไม่มีระเบียบรองรับที่จะสามารถซื้อสิ่งที่ยังไม่ผลิตได้ แต่เราต้องวางเงินทำให้ติดขัดต้องใช้เวลาเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยจัดซื้อวัคซีนล่าช้า”
ประสบการณ์นี้เป็นบทเรียนต่อประเทศไทยว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินจะสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไร ที่จะไม่ทำให้คนที่ตัดสินใจต้องเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบในภายหลัง
การใช้เงินตามระเบียบที่ต้องเขียนเป็นโครงการของบประมาณขึ้นไป ปีแรกของการแพร่ระบาดมีการอนุมัติงบประมาณไม่มาก แต่จะมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ ดร.อังสุมาลีได้อธิบายว่า ส่วนหนึ่ง จากปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและส่วนหนึ่งจากการของบประมาณจากเงินกู้เป็นสิ่งที่หน่วยงานไม่คุ้นเคย การเขียนให้ถูกต้องอาจจะยากสำหรับบุคลากร งบกลางเป็นรูปแบบที่คุ้นเคยมากกว่า ทั้งนี้ยังมีเรื่องของการให้การอนุมัติจัดซื้อด้วยว่า ผู้ตัดสินใจไม่มีข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาในมือ ทำให้ล่าช้าหรือถูกทวนสอบข้อมูลเพิ่มเติม
“อีกมุมหนึ่งด้านระบบข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เรายังไม่ได้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลกัน เราไม่รู้ว่าแต่ละโรงพยาบาลมีห้องไอซียูกี่ห้อง มีเครื่องวัดออกซิเจนเท่าไหร่ มีหมอเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สามารถรักษาโรคโควิดได้กี่คน ตรงนี้เป็นอุปสรรคในการกระจายคนไข้ รวมถึงการจัดซื้อเวชภัณฑ์ คนที่ดูก็อยากทราบว่ามีอุปกรณ์เหล่านี้เท่าไหร่ที่ต้องจัดสรรเพิ่ม การเก็บข้อมูลที่มีความจำเป็นเพื่อนำมาใช้พิจารณาประกอบการตัดสอนใจในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องมาคิดแล้วว่า เราจะทำอย่างไร ต้องมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้ไหม และเก็บอย่างไร” ดร.อังสุมาลี อธิบาย
ดร.อังสุมาลี ยังกล่าวอีกว่าจากการสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ พบว่ามีความมั่นใจว่ารัฐมีเงินเพียงพอต่อสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าจะมีการล่าช้าหรือติดขัดโรงพยาบาลยังมีความสามารถในการสำรองจ่ายออกไปก่อนได้โดยมั่นใจว่ารัฐบาลจะจ่ายคืนมาให้
กรณีในต่างประเทศ บางประเทศมีแหล่งเงินสำรอง หรือกองทุนสำรองในประเทศ เช่น ประเทศสิงค์โปรและประเทศอินโดนีเซียจะเอาเงินสำรองมาใช้ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาด ส่วนประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเน้นใช้เงินสมทบในการรักษาการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่รัฐสนับสนุนค่าวัคซีนให้กับประชาชน
สำหรับในประเทศไทย เราไม่มีกองทุนสำรอง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้มีการพูดถึงกันมาก “มีเสียงตอบรับที่แตกต่างกัน ทั้งในมุมว่าถ้ามีกองทุนแยกออกมาต่างหากก็อาจจะต้องมีการบริหารจัดการ เหมือนกับว่าเราเอาเงินมากองไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยแทนที่จะไปลงทุนในการบริหารอื่นๆ ตรงนี้ถูกมองว่าเป็นต้นทุน แต่อีกมุมหนึ่งมองว่าจะเป็นการช่วยเหลือได้เร็วกว่าในกรณีฉุกเฉินครั้งต่อไป จบได้เร็วกว่า แต่ถ้ามีกองทุน ควรมีไว้เท่าไร ตรงนี้น่าจะต้องมีการวิจัยเพิ่ม” ดร.อังสุมาลีกล่าว
โรงพยาบาลได้รับผลกระทบในแง่งบประมาณหรือไม่
ดร.อังสุมาลี เล่าว่า งบประมาณของโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในช่วงแรกเงินบำรุงของโรงพยาบาลลดลง ช่วงแพร่ระบาดเงินบำรุงของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยภาพรวม ทั้งจากรายการที่คนไข้ต้องจ่ายให้โรงพยาบาลเป็นรายหัว แต่ทั้งนี้ในบางโรงพยาบาลหากลงไปในรายละเอียดก็มีลดลงด้วยเช่นกันซึ่งตรงนี้ต้องไปศึกษาต่อ สาเหตุอาจเกิดจาก รพ.นั้นมีเคสเยอะมาก หรือไม่มีเลย
ในส่วนของเงินบำรุง เป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับการเงินคงคลังว่า เงินบำรุงของโรงพยาบาลคือรายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการเป็นค่าใช้จ่ายจากประชาชน รวมถึงค่าใช้จ่ายรายหัวที่ได้จาก สปสช. ถ้าเหลือไม่ต้องส่งคืนรัฐ โรงพยาบาลสามารถสะสมเงินไว้ได้
แนวทางการบริหารจัดการ การเงินการคลังทางสุขภาพในอนาคต
ในภาวะฉุกเฉิน หรือโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยควรมีนโนยบายหรือทิศทางทางการดำเนินงานเรื่องการเงินการคลังสุขภาพเช่นไร ประเด็นนี้ ดร.อังสุมาลี ได้ตอบคำถามว่า หากมองในข้อดีของระบบสุขภาพที่ประเทศไทยมี คือ 1) ประเทศเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบนี้สามารถขยายสิทธิที่มีอยู่ให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนได้ง่ายจากกลไกข้อมูลที่มีได้ 2) โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยมีเงินบำรุง แม้มีบางช่วงที่ผ่านมาการจัดสรรงบล่าช้าจากโควิด โรงพยาบาลสามารถเอาเงินบำรุงส่วนนี้ไปใช้ก่อนได้ด้วยการบริหารจัดการเอง 3) ในเรื่องงบประมาณภาครัฐพยายามจัดสรรอย่างเต็มที่ มีเงินซื้อวัคซีน มีเงินจ่ายให้กับบุคลากรและสถานพยาบาล รวมถึงการบริการรูปแบบอื่นๆ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนการจ่ายไปด้วยเพื่อให้ประชาชนจ่ายน้อยลง เช่น การตรวจหาเชื้อ ช่วงต้นราคาสูงมาก ต่อมาราคาลดลงเรื่อย ๆ เป็นการกระจายบริการลงไปในประชาชนที่เกิดจากงบประมาณอุดหนุนลงไป ในทางกลับกันเงินกู้ต้องมีดอกเบี้ยที่เป็นภาระหนี้ระยะยาวอาจทำให้เกิดข้อจำกัดงบประมาณได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมความครอบคลุมของการเงินการคลังสุขภาพประเทศไทยในด้านสาธารณสุข ดร.อังสุมาลี มองว่าครอบคลุมในบริการด้านสุขภาพ ตั้งแต่การตรวจหาโรค การรับเข้าผู้ป่วยในและการส่งต่อ
ดร.อังสุมาลีกล่าว
การคลังสุขภาพมีความสำคัญจำเป็น การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบัน เป็นต้นทุนที่ดีสำหรับประเทศไทย ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายเพียง 30 บาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ทุกคนสามารถจ่ายได้ ทั้งนี้จะมีการพัฒนาอย่างไรให้คนรู้สึกได้รับบริการที่ดีได้ ไม่ใช่คนรู้สึกว่าไปซื้อประกันเอกชนเพื่อได้รับบริการที่ดีกว่า หากเป็นแบบนั้น ระบบบริการสาธารณสุขจะยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนอยู่ ในมุมนี้ ดร.อังสุมาลี มองว่าต้องจัดการระบบให้คนเชื่อมั่นที่จะไปใช้บริการเป็นระบบที่ยั่งยืนและเข้าถึงได้
การเงินการคลังสุขภาพเป็นสิ่งที่สะท้อนระบบบริการสุขภาพด้วย สมมุติอนาคตมีโรคระบาดที่รุนแรงกว่านี้ ยาวนานกว่านี้ ประเทศของเราจะทำอย่างไร เราจะออกแบบอย่างไรที่จะควบคุมงบประมาณและตอบสนองต่อความต้องการวิกฤตินั้นๆ ได้