ทำไมเราต้องทำเรื่องนี้

NCDs
คือสาเหตุคนไทย
ตายเป็นอันดับหนึ่ง

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicale diseases) เป็นสาเหตุหลักถึง 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตทั่วโลก และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นสถิติต่อเนื่องมากว่า 5 ปี จากข้อมูลของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ทั้งหมด 325,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน โดยอัตราตายด้วยโรค NCDs ในประเทศไทย คือ 472.8 ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงกว่าอัตราตายเฉลี่ยของโลก ซึ่งอยู่ที่ 398.9 ต่อแสนประชากรกลุ่มโรคเรื้อรัง หมายถึง โรคที่เกิดต่อเนื่องยาวนานและมีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้า ๆ จนถึงอาการวิกฤติได้ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ที่มักมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว กลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง) 2) กลุ่มโรคเบาหวาน 3) กลุ่มโรคมะเร็ง และ4) กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (รวมถึงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืด)

 

NCDs
ไม่ใช่โรคของคนแก่
อีกต่อไป

โดยทั่วไปมักมีความเข้าใจกันว่าโรค NCDs เป็นโรคของผู้สูงอายุ เพราะสะสมพฤติกรรมเสี่ยงมาเป็นเวลานานตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่จากข้อมูลพบว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของการตายด้วยโรค NCDs พบว่าเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (อายุ 30-60 ปี) ณ ปัจจุบัน คนไทยกว่า 14 ล้านคนกำลังเป็นโรค NCDs และมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันจะมีเพิ่มขึ้นปีละ 5% โดยเฉพาะวัยแรงงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงสุด จากการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่ไม่สมดุล ทั้งเรื่องการกิน การนอน การออกกำลังกาย และการทำงานที่ไม่รู้จักพักผ่อน หรืออยู่นิ่งๆ กับที่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทุกวันต่อเนื่อง ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

NCDs โรคร้ายตายผ่อนส่ง
ฉุดรั้งเศรษฐกิจ
และการพัฒนาประเทศ

การเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ คนมักให้ความรู้สึกว่าเป็นโรคธรรมดา แต่ถ้าลองสำรวจย้อนกันไปในครอบครัวหนึ่งจะต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่เสียชีวิตด้วยโรค NCDs ด้วยธรรมชาติของโรคที่เป็นโรคเรื้อรัง มีการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้า ๆ จนถึงอาการวิกฤติของโรคแล้วเสียชีวิตไปในที่สุด
ระหว่างของการรักษาโรคนี้ใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และต้องเดินทางไปติดตามอาการกับแพทย์อย่าสม่ำเสมอ เบื้องหลังของเหตุการณ์นี้คือค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเสียโอกาสในการทำงาน การอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรงเต็มที่ต้องเสียค่ายาแล้วยังสร้างรายได้ไม่ได้ ทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือการที่ผู้ป่วยบางคนต้องมีผู้ดูแลพิเศษ คนในครอบครัวต้องหาเงินมาช่วยค่ารักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งในมุมของบุคลากรทางการแพทย์เอง ส่วนหนึ่งต้องมาดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจำนวนมากทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นมูลค่าของค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพในแต่ละปีที่มีมูลค่ามหาศาล

โรค NCDs ก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศ องค์กรอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าหากประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังไม่ดำเนินการอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2568 (ค.ศ. 2011-2025) จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรค NCDs อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังจะทำให้ประชากรทั่วโลกติดอยู่ในความยากจนเป็นจำนวนหลายล้านคน
นอกจากผลกระทบทางด้านสุขภาพแล้ว การเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs ของประชากรในประเทศนั้นทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศลดลง

วิธีการทำงานเรื่อง NCDs ที่ผ่านมาของไทย
(การรับมือในประเทศไทยที่ผ่านมา)

เส้นทางขับเคลื่อนป้องกัน NCDs ในเชิงนโยบายในประเทศไทย

นอกจากการดำเนินงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกแล้ว ที่ผ่านมา ในประเทศไทยได้ดำเนินการหลายมาตรการ
ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันและควบคุมโรค NCDs ได้แก่

  • แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554-2563 เป้าหมายหลักในการพัฒนาเพื่อลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สาคัญ 5 โรค (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง) ด้วยการเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียงใน 3 ด้าน (การบริโภคที่เหมาะสม การออกกาลังกายที่เพียงพอ และการจัดการอารมณ์ได้เหมาะสม)
  • แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 2560-2565 มีเป้าหมายให้ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ก่อนวัยอันควร ลดอัตราการบริโภคบุหรี่ และลดอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • แผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561 – 2573) เป้าหมายให้เพิ่มอัตราการออกกำลังกายของประชาชน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและส่งเสริมการออกกำลังกาย การลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
  • ส่งเสริมการคัดกรองความเสี่ยงและคัดกรองโรค NCDs ในหน่วยบริการสุขภาพ และสถานประกอบการ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  • พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรค NCDs ให้มีความเชื่อมโยงและมีคุณภาพ โดยเน้นการจัดบริการที่เครือข่ายบริการปฐมภูมิ และการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหลากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ในการป้องกันและควบคุมโรค NCDs และการสร้างเสริมสุขภาพ

ในระดับกิจกรรม/โครงการ ก็มีความพยายามผลักดันขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยการสร้างความรู้และสื่อสารความรู้เพื่อผลักดันนโยบาย และการสร้างบุคลากรเพื่อให้มีความสามารถสร้างความรู้เพื่อผลักดันนโยบาย แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ในทางปฏิบัติ เช่น

  • โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCD Policy Platform) เพื่อทดลองรูปแบบการสร้างกลไกขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่ไม่เป็นทางการ จากการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคี/ผู้มีส่วน่ได้ส่วนเสีย ซึ่งได้ผลลัพธ์คือการสื่อความเข้าใจทางนโยบายจากฐานงานวิชาการ
  • โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำ (Fellowship program on NCD interventions under the RTG-WHO Country Cooperation Strategy 2017-2021) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ CCS-NCD เน้นพัฒนาศักยภาพในด้านการวิเคราะห์และเรียนรู้กระบวนการนโยบาย และสื่อสารความเข้าใจนโยบายและกำหนดผลลัพธ์เป็นข้อสรุปเชิงนโยบาย (policy brief)
  • โครงการโปรแกรมระยะยาวเพื่อพัฒนาผู้นำในระบบสาธารณสุข (Health Positive Disruptor) เพื่อสนับสนุนบุคลากรในระบบสุขภาพให้มีความรู้ความเช้าใจในกระบวนการนโยบาย การตัดสินใจ และการวางยุทธศาสตร์ในประเด็นที่สนใจ

โดยสรุป ในความพยายามระดับกิจกรรม/โครงการเหล่านี้ พบว่า มีความพยายามพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการทำเนื้อหาเชิงนโยบายได้ (policy content) แต่ก็ยังไม่สามารถผลักให้ความรู้นี้เข้าไปในกระบวนการนโยบาย (policy process) ของกระทรวงต่างๆ ได้ และตัวอย่างความพยายามสร้าง platform เพื่อนำความรู้ไปผลักดันนโยบายก็ยังขาดการดึงภาคส่วนอื่นนอกภาคสาธารณสุขเข้าร่วม

ช่องว่างที่เกิดขึ้น ช่องโหว่ที่พบ
(ทำไมแผนดี แต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย)

จากความพยายามของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขและภาคีด้านสุขภาพที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขป้องกันการเกิดโรค NCDs ไปถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้ได้ชัดเจนนัก แม้จะสามารถผลักไปให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติและวางกลไกให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลายกระทรวง ดังเช่น แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554-2563 ซึ่งมี 20 กระทรวงเข้ามาร่วมขับเคลื่อน เป็นการทำงานในระดับกระทรวงที่น่าจะส่งผลดี แต่กลับพบว่ายังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหา NCDs เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาและความต่อเนื่องของการทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การทำงานที่ผ่านมา ในระดับความร่วมมือจากหลายกระทรวงนี้ ส่วนมากคนที่มาประชุมจะเป็นตัวแทนรับเรื่องและกลับไปนำเสนอ เป็นรูปแบบการทำงานที่ต้องรอคำสั่งจากบนลงล่าง จึงทำให้การบังคับใช้ ติดตาม และประเมินผลของแผนและนโยบายที่ครอบคลุมการป้องกันและควบคุมโรค NCDs ยังขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข และระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม จึงลดประสิทธิภาพลงไปด้วย


“ปัญหา NCD ยาวนานกว่าคนทำงาน อายุคนทำงานเปลี่ยนไปเรื่อยอยู่ไม่กี่ปีก็ย้าย
แต่ปัญหายังแก้ไม่จบ
จึงต้องทดลองหาวิธีการทำงานใหม่ ที่ไม่ต้องรอคำสั่งจากข้างบน ไปทำงานกับคนระดับกลาง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง”

ทดลองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ 

เพื่อที่จะออกแบบการแก้ปัญหากรณีที่กลไกการทำงานหลายภาคส่วน (MSC) ที่ยังไม่มีประสิทธิผลในทางปฏิบัติ ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 จึงได้มีการเตรียมการและสำรวจข้อมูลในวงกว้าง ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ (key stakeholder) ที่เกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและควบคุมปัญหา NCDs ในมิติต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานโดย ทุนเพื่อการวางแผน (Planning Grant) จาก Canadian Institute of Health Research (CIHR) ประเทศแคนาดา โดยดำเนินการในรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีกระบวนการดังนี้

กระบวนการข้อที่ 3 นี้ มีข้อค้นพบที่สำคัญว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นเชิงนโยบายที่ภาคีด้านสุขภาพประสงค์ที่จะทำงานกับภาคีกระทรวงนอกภาคสุขภาพ ใน “ประเด็นสุขภาพ” ต่างต้องการทำงานกับกระทรวงเป้าหมายที่ทับซ้อนกัน แต่ในความเป็นจริงต่างประเด็นต่างทำงานแยกส่วนกันโดยยึดความต้องการของแต่ละประเด็นสุขภาพมากกว่าที่จะเป็นความต้องการของกระทรวงนั้นๆ จึงไม่เกิดการบูรณาการระหว่างประเด็นสุขภาพและไม่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงนั้นๆ ตามที่คาดหวังไว้

ข้อมูลที่ได้จากกระบวนการในข้อที่ 3

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จึงได้นำข้อค้นพบที่ได้ ทำการยกร่างโครงการวิจัย
โดยนำประเด็นเชิงนโยบายที่ฝ่ายสุขภาพและกระทรวงต่างๆ
สนใจดำเนินการร่วมกันเป็นตัวตั้ง
แล้วนำกลยุทธ์และวิธีการสร้างและสื่อสารความรู้
มาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การผลักดันนโยบาย

คือ “โอกาส”

ข้อค้นพบสำคัญที่ได้ในโครงการวางแผน (Planning Grant) 3 ประการคือ

 

 

จึงนำมาสู่

“โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการทำงานหลายภาคส่วน ที่มีประสิทธิผล ปฏิบัติได้ และยั่งยืน เพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง
ด้วยวิธีการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง”

“เพื่อยกระดับการทำงาน MSC เพื่อแก้ปัญหา NCDs โดยเครื่องมือ UCIKT”

เป้าหมายสำคัญของโครงการ คือ การหาวิธีการทำงานหลายภาคส่วนที่สามารถขับเคลื่อนการป้องกัน NCDs ที่มีประสิทธิผล
สามารถปฏิบัติได้จริงในคนทำงานหลักอย่างต่อเนื่องยาวนาน ความรู้จากโครงการวางแผน ทำให้เกิดเครื่องมือ UCIKT ซึ่งเป็นกลยุทธ์และวิธีการสร้าง
และสื่อสารความรู้มาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การผลักดันนโยบาย

วัตถุประสงค์ของโครงการ


เพื่อลงมือปฏิบัติ
มาตรการ“UCIKT”
การสื่อสารความรู้แบบครอบคลุม
โดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง


เพื่อศึกษาว่า “UCIKT”

ทำงานอย่างไร ส่งผลอะไร


อะไรคือปัจจัยความสำเร็จของ


UCIKT

กรอบแนวคิดของโครงการ

โครงการนี้ เป็น “การวิจัยเชิงปฏิบัติการ” (implementation research) ที่เน้นศึกษา “การลงมือปฏิบัติ” (implementation) ของมาตรการ (intervention) ที่มีชื่อว่า
“การสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมโดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง” (UCIKT) เพื่อยกระดับการทำงานหลายภาคส่วน ที่มีประสิทธิผล ปฏิบัติได้ และยั่งยืน
เพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหา NCDs การศึกษาวิจัยนี้จึงต้องการจะศึกษาเพื่อตอบ คำถามการวิจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือ

การทำงานด้วย “ฉันทะ”

(แนวคิดหลักในการทำงาน)

ทำงานในระดับกลาง
Middle Management

ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Manager) มีหน้าที่ในการรับนโยบายองค์กร นำไปวางแผน ถ่ายทอดสู่การปฏิบัติแกผู้ใต้บังคับบัญชา ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ และกำกับดูแลการทำงาน เพื่อให้บรรลุตามนโยบายและงานที่ได้รับมอบหมาย และยังต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมองเห็นทิศทางในอนาคต (Foresight) ที่ตอบโจทย์ของบทบาทภารกิจขององค์กรนั้นๆ ด้วย ผู้บริหารระดับกลาง จึงเป็นคนสำคัญ (key person) คนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนให้นโยบายไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวังได้

คน(ใน) ที่ใช่

เป็นรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นทางการ แต่เป็นการทำงานในภารกิจที่คนในกระทรวงนั้นๆ ต้องรับผิดชอบอยู่แล้วเดิม แล้วเลือกประเด็นสุขภาพที่สนใจ เลือกนโยบายที่อยากทำร่วมกัน การขับเคลื่อนงานในรูปแบบนี้จึงตอบโจทย์ให้กับคนทำงานว่าไม่ต้องรอคำสั่งแต่เริ่มทำได้เลย โดยใช้ชุดข้อมูลที่แต่ละคนมีมารวมกันแล้วร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ในการสร้างนโยบายใหม่ที่จะส่งเสริมเรื่องสุขภาพให้กับคนในสังคมเสนอต่อระดับบริหารต่อไป

“กิจกรรมหลักของโครงการนี้ คือ Policy content เป็นเรื่องราวการแก้ปัญหาจริง ๆ วิจัยที่เรื่องกระบวนการ
เชิงนโยบายว่ารูปแบบที่ตั้งสมุติฐานนี้มีประสิทธิผลจริงหรือไม่ คน(ใน)ที่ใช่ คือ สะพานที่เชื่อมต่อระหว่างกระทรวง”

กระบวนการนี้จึงแตกต่างในด้านเปลี่ยนการทำงานแบบสั่งการ มาที่การทำงานกับคนทำงาน และมีฉันทะ เลือกทำในประเด็นที่มีความเป็นไปได้

แนวคิด UCIKT

ใจหลักสำคัญของ แนวคิด “UCIKT: การสื่อสารความรู้แบบครอบคลุมที่มีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง” คือ การเลือกปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานกับ “คน(ใน)ที่ใช่” ในกระทรวงต่างๆ โดยชักชวนกันมาทำข้อมูลที่จำเป็นเตรียมพร้อมเอาไว้

U – User-oriented คือ ผู้ใช้ความรู้ของการสื่อสารความรู้นั้น เป็นตัวตั้งในการสร้างและสื่อสารความรู้
C – Comprehensive มีกระบวนการที่ครอบคลุมครบวงจรของผู้ใช้ข้อมูลและผู้สร้างข้อมูล
I – Integrated บูรณาการดึงคนทำงานในกระทรวง (ผู้ใช้ข้อมูล) เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
KT – Knowledge Translation การใช้ความรู้ผลักดันนโยบาย ต้องเอาความรู้ในฝั่งวิชาการแปลไปให้ คนในฝั่งปฏิบัติการใช้ได้

ในด้านการทำงานขับเคลื่อนแบบ middle management ซึ่งทำกับผู้ใช้ความรู้ (User-oriented ) สำหรับโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ จึงคำนึงถึงกระบวนการพัฒนาศักยภาพของนักวิชาการกระทรวง หรือ “คน(ใน)ที่ใช่” ซึ่งจะเป็นผู้มีบทบาทสื่อสารความรู้และนโยบาย รวมทั้งเป็นผู้ที่ใช้ความรู้เพื่อวางนโยบายในภารกิจของกระทรวง ทั้งนี้ผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง” เป็น “มาตรการ (intervention)” ของโครงการวิจัยนี้ ถูกพัฒนาขึ้นโดยคณะผู้วิจัย (บนฐานของการทบทวนองค์ความรู้ เรื่อง การทำงานหลายภาคส่วน การสื่อสารความรู้เพื่อผลักดันนโยบาย การสร้างการมีส่วนร่วมการวิจัยเชิงปฏิบัติการ) โดยมุ่งหมายที่จะยกระดับการทำงานหลายภาคส่วนเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหา NCDs ซึ่งโครงการเชิงปฏิบัติการนี้มีกระบวนการพัฒนาและประเมินผลนักวิชาการกระทรวงสี่กระทรวงในเชิงคุณภาพก่อน ระหว่างและหลังเสร็จสิ้นโครงการ


การสื่อสารความรู้แบบครอบคลุม

โดยมีผู้ใช้ความรู้เป็นศูนย์กลาง

คือ การดึงเอาผู้ใช้ความรู้ (knowledge user) เข้ามาร่วมในกระบวนการสร้างและสื่อสารความรู้ตั้งแต่ต้นและตลอดกระบวนการ แทนที่จะสื่อสารความรู้ไปให้ผู้ใช้ความรู้ตอนจบกระบวนการสร้างความรู้ไปแล้ว เป็นกิจกรรมการสื่อสารความรู้แบบครอบคลุม (comprehensive knowledge translation activities)

การสื่อสารนี้ ทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ ที่มีความรู้สึก มีสัมพันธภาพ เห็นอกเห็นใจกัน เห็นความสำคัญร่วมกัน เป็นความร่วมมือ เป็นพันธมิตร เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (exchange efforts) กระบวนการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือ ตลอดจนกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สร้างและผู้ใช้ความรู้ เป็นการสื่อสารตลอดระหว่างทางของการดำเนินการวิจัยในโครงการฯ นอกเหนือจากประเด็นเนื้อหาที่สำคัญที่เป็นความรู้หลัก ร่วมกับกระบวนการการเผยแพร่ความรู้ (push efforts) ทำความรู้ให้เป็นเนื้อหาและรูปแบบที่เข้าใจง่าย การเอื้อให้เกิดการดึงความรู้ไปใช้ได้สะดวก (efforts to facilitate user pull) โดยสร้างเครื่องมือ/กลไกรวบรวมความรู้ให้สืบค้นและดึงไปใช้ได้ง่าย/สะดวก ตลอดจนการมีทีมที่สามารถสังเคราะห์ความรู้แบบเร่งด่วนได้เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ความรู้แบบเร่งด่วนของผู้ใช้ความรู้ได้ และสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ (pull efforts) ให้ผู้ใช้ความรู้ขวนขวายหาความรู้เพื่อนำไปใช้เอง เพื่อเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การปฏิบัติหรือการกำหนดนโยบายได้ การสื่อสารครบวงจรโดยเห็นความเป็นมนุษย์ในผู้ร่วมโครงการฯ ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันในระยะยาว

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

NCDs เป็นปัญหาสำคัญ ต้องการกลไกการทำงานหลายภาคส่วน (Multi Sectoral Collaboration : MSC ) ที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา แต่ MSC
ในรูปแบบในอดีตที่ผ่านมาไม่สามารถส่งผลดังที่คาดหวัง ประเทศไทยยังขาดความรู้เกี่ยวกับมาตรการที่สามารถยกระดับหลายภาคส่วนอย่างได้ผล
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและประเมินผลของมาตรการแนวใหม่ที่จะสามารถยกระดับการทำงานหลายภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิผล ปฏิบัติได้ และ ยั่งยืน

 มุ่งสู่การสร้างนโยบายระดับชาติ

การกำหนดนโยบายเพียง 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ ขั้นการระบุปัญหา ขั้นจัดทำข้อเสนอ แล้วประกาศเป็นนโยบาย อาจไม่ครอบคลุมและเพียงพอ ทำให้เกิดช่องโหว่ในการนำสู่การปฏิบัติที่เกิดประสิทธิผลได้จริง เมื่อ สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม หรือ ปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ เมื่อวันนี้ประชาชนรู้ว่าต้องกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้นแต่ผักและผลไม้มีสารเคมีตกค้าง หรือการเข้าถึงสถานที่ออกกำลังกายเป็นเรื่องยากและมีราคาที่ต้องจ่ายในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ หาเงินยาก คนมีความเครียดสูง ความสะดวกสบายในชีวิตทั้งการซื้อกินซื้อใช้ที่ง่ายมากไม่ต้องออกนอกบ้านสามารถสั่งมาส่งได้  บุหรี่และเหล้าหาซื้อง่าย เข้าถึงง่าย และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมายที่ทั้งขัดขวางและส่งเสริมพฤติกรรมเชิงลบต่อสุขภาพ
เพียงการระบุถึงที่มาของปัญหาก็เห็นถึงความซับซ้อนและพลวัตรซึ่งกันและกันเชื่อมโยงไปทั้งหมดในทุกทิศทุกทางทุกด้าน  วันนี้เรารู้อยู่แล้วว่าแต่ละหน่วยงาน กรม กระทรวงล้วนมีฐานข้อมูล ชุดของมูลเป็นของตนเอง แต่ยังไม่สามารถนำข้อมูลที่มีนั้นมาต่อกันให้เกิดเป็นข้อมูลภาพใหญ่ของประเทศเพื่อนำพาไปสู่การวางนโยบายที่สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการของประชาชน และการป้องกันปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาให้ครอบคลุมรอบด้าน 

แล้วเราจะข้ามจากขั้นที่ 1 การระบุปัญหา ไปสู่ขั้นที่ 2 การจัดทำข้อเสนอได้อย่างไร? เมื่อเรายังไม่เห็น “ช้าง” ตัวเดียวกันทั้งตัว !

นโยบายสาธารณะ คือ หมุนกลับมาดูใหม่ให้รอบด้าน

“กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือหรือวิธีการเปิดพื้นที่ทางสังคม เปิดพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง” การส่งเสริมให้ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ในการทำวิจัย และนำผลการวิจัยมาเรียนรู้ร่วมกัน หรือนำไปสู่การสร้างการใช้นโยบายสาธารณะที่ดี การวิจัยนโยบายหรือการสังเคราะห์นโยบายอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องจำเป็นในกระบวนการสร้างนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนทางสังคมไปทั่วทุกองคาพยพ


“การมีส่วนร่วมเรียนรู้” ของทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง สร้างให้เกิดความเข้าใจของสังคม (social understanding) เป็นคุณค่าของสังคม (social value) เป็นการปฏิบัติโดยสังคม (social practice) ข้อเสนอเชิงนโยบายจะเป็นผลสุดท้ายที่เกิดจากกระบวนการ “ความเข้าใจ คุณค่า การปฏิบัติ” โดยสังคมจนปรกติวิสัย คือ การปรับเปลี่ยนตัวเองทางสังคม (social transformation) จึงเท่ากับการได้วางผลของนโยบายสาธารณะไปแล้วส่วนหนึ่ง


การกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องนำเรื่องสุขภาพเข้าไปอยู่ในกระบวนการวิเคราะห์นโยบายและการประเมินผลกระทบของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อให้นโยบายสุขภาพมีมุมมองเชิงนิเวศ มีความเป็นสหวิชาโดยไม่ยึดติดกับเส้นแบ่งขอบเขตของหน่วยงาน กระทรวงและกรม แบบดั้งเดิม เพราะวิกฤตโรค NCDs และปัจจัยเสี่ยงหลัก เป็นเรื่องที่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรมองเชิงระบบสุขภาพ แต่ละกระทรวง หน่วยงาน มีหน้าที่จัดการสิ่งแวดล้อมในสังคมทั้งทางกายภาพและทางวัฒนธรรม ให้เอื้อต่อพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพง่ายขึ้น และมองให้เห็น แนวโน้มใหญ่ในเป้าหมายสุขภาพ ดังนี้


เป้าหมายระบบสุขภาพมีความซับซ้อนขึ้น ไม่ได้มีแค่ลดการตาย ลดการป่วย ป้องกันความพิการ


ปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาพ อันเนื่องมาจาก เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีอิทธิพลมากขึ้น และต้องทำควบคู่กับการพัฒนาระบบบริการ


ระบบบริการสุขภาพต้องใส่ใจความรู้สึกของประชาชนและความต้องการ ความเป็นจริงของสังคม และต้องมีการออกแบบให้ปรับเปลี่ยนยืดหยุ่น รวมทั้งสนับสนุนพลังชุมชน มากกว่าการตั้งรับและทำตามมาตรฐานทางเทคนิคและวิชาชีพ


ถามคำถามชวนคิดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ระบบที่ดี ต้องทำให้เกิดอะไร อะไรคือผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ประชาชนและสังคมอยากได้และควรได้

ความมุ่งหมายที่จะยกระดับการทำงานหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน

นโยบายเพื่อการป้องกันและควบคุมปัญหา NCDs ในโครงการนี้ มุ่งสร้าง
และสื่อสารความรู้ไปยังผู้ใช้ความรู้ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายของกระทรวงต่างๆ
นอกภาคสุขภาพ ด้วย UCIKT และวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว.