Open Data ประโยชน์มหาศาล ของการไม่ยึดครองข้อมูล
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มสช. ชวนคิด | 23 กุมภาพันธ์ 2566 | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม
เพราะการพัฒนาระบบสุขภาพให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องคิดจากข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นปัจจุบัน การขับเคลื่อน Open Data ให้เกิดการใช้ได้จริงในประเทศไทย บนเป้าหมายหลักเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่มีในมือขององค์กรหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงได้โดยอิสระและเกิดประโยชน์ต่อวงกว้างทั้งในภาคนโยบายและภาควิชาการจึงสำคัญ
วันนี้เป็นอีกครั้งที่เราโชคดี ได้พูดคุยสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากนักวิจัยผู้มากประสบการณ์ท่านหนึ่งของประเทศไทย ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้ก่อตั้งหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงมุมมองต่อการขับเคลื่อนเรื่อง Open Data ในประเทศไทย
¹ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการ “ระบาดวิทยาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพภาคใต้” (Epidemiology of Health Problems in Southern Thailand) สนับสนุนโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เมื่อถึงเวลานัดหมายเราพยายามใช้ช่วงเวลาที่มีให้เกิดคุณค่าอย่างเต็มที่ คำถามแรกที่เราขอความคิดเห็นจากคุณหมอคือ Open Data มีความสำคัญอย่างไรต่อนักวิจัยและกระบวนการวิจัย คุณหมอได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “เรามองหาข้อมูลในระดับใด”
หากเรามองว่าการมีข้อมูลมากองไว้มากๆ แล้วจะเป็นประโยชน์นั่นอาจไม่ใช่ เพราะข้อมูลมีหลายระดับแตกต่างกัน ข้อมูลส่วนบุคคลบางเรื่องไม่ใช่สิ่งที่นักวิจัยต้องการ สำหรับข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลความเจ็บป่วย ความถี่การเข้ารับการรักษา เป็นข้อมูลรวมทั่วไป ข้อมูลชุดนี้ควรทำให้สามารถเข้าถึงได้ และเป็นสิ่งที่นักวิจัยสนใจ
ในทางปฏิบัติ ข้อมูลที่มีความหลากหลายและมีความละเอียดสูงนี้ การเชื่อมข้อมูลทั้งประเทศจะมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก คำถามคือ หน่วยงานใดจะเข้ามารับผิดชอบลงทุนกับการทำฐานข้อมูลชุดใหญ่นี้ เลขฐาน 13 หลัก (เลขบัตรประจำตัวประชาชน) ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทยมีข้อมูลประชากรอยู่ในมือ แต่ขั้นตอนการอนุญาตให้นักวิจัยเข้าไปใช้ข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ต้องมีการจัดการ
“ถ้ามีการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีพอ ประชาชนทุกคนไว้ใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลยังสามารถเป็นส่วนตัวอยู่ ประชาชนก็น่าจะยอมรับได้ เพื่อให้นักวิจัยเข้าถึงประโยชน์ข้อมูลโดยภาพรวมได้”
คุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ลักษณะข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลที่มีการอัพเดทตลอดเวลา มีรูปแบบโครงสร้างของข้อมูลในเชิงสถิติไม่ชัดเจน ต้องมีวิธีการทางเทคนิค มีการเตรียมการจัดการข้อมูล กระบวนการนี้ต้องกลับมาที่รัฐและประชาชนต้องยอมรับ มีกฎหมาย ให้คนเข้าใจและเข้าถึงได้คุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ลักษณะข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลที่มีการอัพเดทตลอดเวลา มีรูปแบบโครงสร้างของข้อมูลในเชิงสถิติไม่ชัดเจน ต้องมีวิธีการทางเทคนิค มีการเตรียมการจัดการข้อมูล กระบวนการนี้ต้องกลับมาที่รัฐและประชาชนต้องยอมรับ มีกฎหมาย ให้คนเข้าใจและเข้าถึงได้
ข้อจำกัดสำคัญ คือ ข้อมูลด้านสุขภาพในประเทศไทยวันนี้ยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลให้เป็นผืนเดียวกัน
“แต่ละโรงพยาบาลมีข้อมูลคนไข้ที่ถือไว้เป็นชุดของตนเอง ถ้ารัฐบาลจะลงทุนตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้เป็นระบบส่วนกลาง มีวิธีการลงระบบแบบเดียวกัน ด้วยศักยภาพเทคโนโลยีในประเทศไทยสามารถทำได้ แต่การจัดการตามขั้นตอนเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการ”“แต่ละโรงพยาบาลมีข้อมูลคนไข้ที่ถือไว้เป็นชุดของตนเอง ถ้ารัฐบาลจะลงทุนตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการให้เป็นระบบส่วนกลาง มีวิธีการลงระบบแบบเดียวกัน ด้วยศักยภาพเทคโนโลยีในประเทศไทยสามารถทำได้ แต่การจัดการตามขั้นตอนเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการ”
นี่เป็นมุมหนึ่งของการทำ Open Data ในอีกทางคู่ขนานข้อมูลจะมีประโยชน์ต่อเมื่อถูกนำไปใช้
ต้องมีคนช่วยกันตั้งคำถาม
คุณหมอได้เสนอให้ชวนคิดในอีกมุมหนึ่งว่า การจะใช้ข้อมูล เราได้ฝึกการตั้งคำถามกันแล้วหรือยัง
“ต้องมีคนช่วยกันตั้งคำถามว่า คุณอยากรู้อะไร? มีนักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์
มีข้อมูลแต่ไม่มีนักวิเคราะห์ข้อมูลก็ไม่เกิดประโยชน์ นักวิชาการ หรือผู้บริหาร
คนที่ต้องการข้อมูล ควรเข้ามาช่วยตั้งคำถาม เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการจากการวิเคราะห์
เมื่อได้คำถามแล้วนำไปสู่การปฏิบัติหรือนโยบายใดได้บ้าง หน่วยงานของรัฐเองก็ไม่มีคำถาม
เมื่อเราอยากทำอย่างนี้ เราก็คิดวางนโยบาย แต่ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยคำถามจึงไม่ได้นำไปสู่การหาข้อมูลให้ได้ซึ่งคำตอบ”
คุณหมอได้อธิบายเสริมในเชิงรูปธรรมการขับเคลื่อนว่า ปัจจุบันข้อมูลมีกระจัดกระจายอยู่เป็นเกาะ ๆ (islands of data sets) ไม่เป็นผืนเดียวกัน (relational database) และยังไม่บุคลากรที่เป็นนักวิเคราะห์เพียงพอ เท่าที่มีอยู่ก็ยังขาดประสบการณ์ ที่สำคัญ คือ ยังไม่ได้ฝึกการตั้งคำถาม การใช้ข้อมูลจึงต้องชักชวนให้คนมาช่วยกันตั้งคำถามที่แหลมคม แม้กระทั่งตั้งคำถามได้ดีแล้ว มีคำตอบจากการวิเคราะห์แล้ว นักยุทธศาสตร์ ผู้บริหาร ก็อาจไม่มีเวลาหรือความสนใจมากพอที่จะนำผลไปใช้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาพร้อมกันไปตลอดห่วงโซ่ คือ การพัฒนาข้อมูล การพัฒนาคำถาม นักวิเคราะห์ และ กลไกในการใช้ผลการวิเคราะห์
“ประเทศไทยจะเจริญขึ้นถ้านำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ เราจะต้องนำทรัพยากรต่างๆ ที่สำคัญ
มาใช้รัฐบาลจะต้องเห็นสำคัญนำเรื่องนี้ขึ้นมาขับเคลื่อนและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ให้ข้อมูล”
โอกาสและความเป็นไปได้
ในระดับโลก คุณหมอได้ยกตัวอย่างการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประเทศในแถบแสกนดิเนเวีย สามารถทำได้ครอบคลุมในระบบสุขภาพ ซึ่งรัฐจะเป็นเจ้าของข้อมูลทั้งหมดรวมถึงการซื้อขายจ่ายยารักษาโรคจากร้านขายยาทั้งหมด ประชาชนมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลภายใต้กฎหมาย การมีข้อมูลระดับนั้นได้จะเป็นประโยชน์มากต่อนักวิจัยและการนำไปวิเคราะห์ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่านำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
สำหรับประเทศไทยเองในระดับจังหวัดในปัจจุบันก็ได้มีความพยายามพัฒนาข้อมูลส่วนสุขภาพส่วนบุคคล เช่นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในจังหวัดสงขลาให้ผู้ป่วยสามารถใช้แอปพลิเคชันเชื่อมโยงข้อมูลที่ตนไปตรวจรักษาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขต ผู้ป่วยเป็นผู้ถือข้อมูลนี้ และสามารถกดคำสั่งอนุญาตให้คุณหมอที่ตนกำลังใช้บริการอยู่ดูข้อมูลที่ไปตรวจจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ แบบนี้ผู้ป่วยได้ประโยชน์โดยตรง ซึ่งโครงการนี้อยู่ในระหว่างการทดลองและพัฒนา
ดังนั้นประเทศไทยจึงมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น การเริ่มต้นจากฐานข้อมูลเลข 13 หลัก ของประชาชน และหากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายมองไปในทิศทางเดียวกัน ทั้ง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ก็มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมข้อมูลสุขภาพเป็นผืนเดียวกัน
“อยากให้นักวิชาการได้คิดถึงภาพรวมของประเทศ
เจ้าของข้อมูลต้องลดความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ และมาร่วมมือกัน
อย่าโลภในเรื่องชื่อเสียงมากเกินไป
เรามีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำอย่างไรจึงจะเกิดความร่วมมือได้จริง”
คุณหมอวีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
การขับเคลื่อน Open Data ในระดับท้องถิ่นหรือระดับจังหวัด ดูจะเป็นโอกาสที่เริ่มทำได้ก่อนตามความสมัครใจและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ แต่มีผลกระทบต่อวงกว้างน้อย หากมองในภาพใหญ่ของการพัฒนาประเทศ นโยบายสนับสนุนของรัฐและการมองผลประโยชน์ร่วมของผู้ถือข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกลไกการเข้าถึงข้อมูลและการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์อันมหาศาลของประเทศอย่างแท้จริง