การทบทวนและวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในประเทศไทย

รับผิดชอบโครงการโดย : อาจารย์ ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด  และคณะ  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

สนับสนุนทุนโดย : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บริหารจัดการโดย : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

บทคัดย่อ

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์นโยบายและมาตรการด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้สูงอายุไทย และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยใช้วิธีการศึกษา ได้แก่ การทบทวนเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกและการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ผลการศึกษา พบว่า การดำเนินงานของประเทศไทยในปัจจุบัน เน้นสนับสนุนการอยู่อาศัยในที่เดิมและการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน เป็นหลัก ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าว พบความท้าทายในหลายประเด็นที่ส่งผลต่อการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่หน่วยงานและประเทศวางไว้ ได้แก่ ข้อจำกัดในบทบาทและอำนาจของหน่วยงานที่รับผิดชอบ การขาดความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นผู้สูงอายุ การขาดการให้ความสำคัญต่อประเด็นผู้สูงอายุ การขาดกลไกติดตาม ประเมิน และรายงานผล และการขาดงบประมาณสนับสนุน และเมื่อเปรียบเทียบการดำเนินงานของประเทศไทยกับข้อเสนอแนะในกรอบแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ พบว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นในการสร้างที่อยู่อาศัยแบบอยู่ร่วมกันของคนหลายกลุ่มวัย ขยายกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เพิ่มบริการสนับสนุนทางสังคมให้กับผู้สูงอายุ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เข้าถึงได้และปลอดภัย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ (7 ประเทศ) พบว่า ต่างประเทศเน้นให้ความสำคัญกับการดาเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ การอยู่อาศัยในที่เดิม กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยและผู้ที่มีรายได้น้อย การสร้างความเป็นเจ้าของในที่พักอาศัย และการสานสัมพันธ์หลายช่วงวัยและระหว่างวัยในที่อยู่อาศัย

จากผลการศึกษาและการหารือผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ได้นามาซึ่งข้อสรุปใน 5 ประเด็นคาบเกี่ยว (crosscutting issues) ที่สำคัญต่อการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ (ที่อยู่อาศัยเดิม ที่อยู่อาศัยใหม่ และสถานบริบาล) ของประเทศไทย ประกอบด้วย 1) การจัดระบบบริการทางสังคม 2) การเข้าถึงและคุณภาพของที่อยู่อาศัย 3) กลุ่มผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้ต่าและผู้ที่ยากจน 4) ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งทางกายภาพและสังคม และ 5) การอยู่อาศัยร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่มวัย การประเด็นคาบเกี่ยวนี้ จำเป็นต้องอาศัยกลไกกลางที่จะคอยเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการดำเนินงาน ใน 5 ด้าน (overarching mechanisms) ประกอบด้วย 1) การเสริมพลังคนทำงานและผู้สูงอายุ 2) การมีกรอบกฎระเบียบและมาตรฐานที่ชัดเจน 3) การมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม 4) การกระจายอานาจรัฐสู่ท้องถิ่น และ 5) การติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน และผลการศึกษานี้ได้นามาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายรวม 19 ข้อ เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนงานด้านการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไทยต่อไป

คำสำคัญ: ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แนวปฏิบัติที่ดี การอยู่อาศัยในที่เดิม