รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมืองเพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยและการดูแลที่เหมาะสม
รับผิดชอบโครงการโดย : ผศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน และคณะ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
สนับสนุนทุนโดย : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
บริหารจัดการโดย : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทย ศึกษาปัจจัยทางด้านประชากร สุขภาพ การอยู่อาศัย เศรษฐกิจ และสังคม ที่นำไปสู่การสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุไทยในเขตเมืองที่เหมาะสม รวมถึงศึกษาทัศนคติของผู้สูงอายุในเขตเมือง และเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยและการดูแลที่เหมาะสม
การศึกษานี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธี (Mixed Method) โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณเป็นหลักและวิจัยเชิงคุณภาพมาสนับสนุน วิจัยเชิงปริมาณใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย และการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ซึ่งได้รับการอนุญาตให้ใช้ข้อมูลชุดดังกล่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ การวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการสัมภาษณ์ระดับลึก (In-depth interview) แบบพบหน้ากับผู้สูงอายุในเขตเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และใช้วิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร จำนวนรวม 40 ครัวเรือน
ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนผู้สูงอายุอยู่ลำพังคนเดียว และครัวเรือนเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มในการอาศัยอยู่ลำพังคนเดียวลดลง ท้ายที่สุดแล้วผู้สูงอายุจะยังคงมีผู้ดูแลแม้ไม่ได้อาศัยอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เพราะลักษณะการตั้งบ้านเรือนของสังคมไทยที่ส่วนใหญ่จะมีบ้านอยู่ใกล้กับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุในเขตเมืองมีการวางแผนการอยู่อาศัยในอนาคต 2 แนวทางคือ อยู่ในที่อยู่อาศัยเดิม และอยู่ในที่อยู่อาศัยใหม่ โดยมีข้อค้นพบว่า “การมีผู้ดูแล” เป็นประเด็นหลักของการเลือกตัดสินใจการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในเขตเมือง
ผลการศึกษาได้นำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการสนับสนุนให้มีระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในเขตเมือง และนำไปสู่การสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยและการดูแลที่เหมาะสม โดยการจัดให้มีการดูแลและบริการผู้สูงอายุในเขตเมือง ที่สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัยได้ ทั้งในด้านสาธารณสุข และระบบบริการแบบเคลื่อนที่สาหรับผู้สูงอายุในเขตเมือง การสนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมในหมู่บ้านที่อยู่ภายใต้การดูแลโดยนิติบุคคลเพื่อขจัดอุปสรรคในการได้รับการดูแลและบริการจากหน่วยงานภาครัฐ การสนับสนุนให้มีการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่สาหรับผู้สูงอายุที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล หรือหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการมีโปรแกรมการดูแลเป็นพิเศษทางด้านจิตใจสาหรับให้การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังคนเดียว เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีอิสระและอยู่ในสภาพที่สามารถดูแลตนเองได้ให้นานที่สุด
คำสำคัญ: รูปแบบการอยู่อาศัย ผู้สูงอายุ เขตเมือง