ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการพัฒนาเทคโนโลยีระบบดิจิทัลเพื่อการจัดบริการโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในระบบปฐมภูมิในประเทศไทย

รับผิดชอบโครงการโดย : ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

สนับสนุนทุนโดย : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

บทสรุปโครงการวิจัย

ชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนาเทคโนโลยีระบบดิจิทัลเพื่อการจัดบริการโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในระบบปฐมภูมิในประเทศไทย วางแผนการดำเนินงาน 3 ปี สำหรับในปีแรก แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนการศึกษาสถานการณ์และความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพสำหรับบริการผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  และอีกส่วนเป็นการพัฒนารูปแบบการบูรณาการการจัดระบบสารสนเทศ มาตรฐานข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นสำหรับบริการปฐมภูมิโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง  และทดลองการทำงานร่วมกันของระบบสารสนเทศดังกล่าวในห้องปฏิบัติการ นำสู่การทดลองการส่งต่อข้อมูลในพื้นที่จริง ระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลแม่ข่าย  โดยเลือกกลุ่ม/พื้นที่บริการปฐมภูมิแบบเฉพาะเจาะจงที่มีประสบการณ์การจัดการ/การใช้ข้อมูลเครือข่ายระดับปฐมภูมิ

การศึกษาความต้องการการใช้ข้อมูลและแนวคิดการทำงานด้านข้อมูลโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงจากกลุ่มต่าง ๆ ประกอบด้วย

  • กระบวนการสนทนากลุ่ม (Focus group Discussion) จำนวน 2 กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย  ทีมหมอครอบครัว และผู้บริหาร และผู้ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • การสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth Interview) จำนวน 3 กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย (1) ทีมการจัดการระบบบริการปฐมภูมิระดับนโยบาย ระดับโรงพยาบาล (2) กลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในพื้นที่เขตเมืองและนอกเขตเมือง และ (3) ทีมจัดการระบบข้อมูล Hospital OS
  • การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ โดยแบบสอบถาม Online Survey เครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในพื้นที่พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังในหน่วยบริการปฐมภูมิกระทรวงสาธารณสุข และนอกกระทรวงสาธารณสุข

พบว่า ความต้องการการใช้ข้อมูลเหมือนกันในทุกกลุ่ม ได้แก่ ประวัติการป่วย/การรักษา ผลการตรวจ/คัดกรอง ผลทางห้องปฏิบัติการ/ผลตรวจรักษา ข้อมูลการตรวจรายบุคคล ข้อมูลยา และนำเสนอข้อมูลในลักษณะการวิเคราะห์เป็น Time series เพื่อสะท้อนพฤติกรรม และการจัดการสุขภาพ/โรครายบุคคล  และระบบข้อมูลที่จำเป็นคือ ระบบการส่งต่อ/ส่งกลับระหว่างสถานพยาบาลปฐมภูมิ โรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งจำเป็นต่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องระยะยาว

การพัฒนาระบบสารสนเทศ ได้พัฒนารูปแบบการบูรณาการและการจัดระบบสารสนเทศบริการสุขภาพในเครือข่ายบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลกำแพงเพชร และหน่วยบริการปฐมภูมิเขตเมืองของโรงพยาบาล  โดยใช้ HL7 FHIR  และกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยน เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้ เพื่อให้การทำงานร่วมกันได้ รู้ถึง “ความหมาย” ของข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยน และนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลจากหลายหน่วยบริการ และสามารถให้การดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ป่วย/ผู้รับบริการมีข้อมูลสำหรับดูแลสุขภาพตนเอง และมีความรู้สามารถมีคุณภาพชีวิตได้ตามความเหมาะสม

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย  ประกอบด้วย 2 ระบบ ได้แก่

ระบบข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูล

  1. มี Platform กลางที่ใช้สำหรับการเก็บข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข
  2. มีองค์กรกลาง (Governance body) เป็นผู้ดูแลฐานข้อมูลสุขภาพ
  3. เชื่อมต่อข้อมูลทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิจนถึงระดับตติยภูมิ
  4. Personal Health Record ประชาชนรับรู้ข้อมูลสุขภาพของตนเอง
  5. ผลักดันมาตรฐาน Hl7FHIR ให้เป็นมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
  6. มีรายงานสถานการณ์/ความก้าวหน้างานโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

          ระบบบริการ

  1. ให้ความสำคัญในการ Matching & Register รายบุคคลอย่างระเอียด เพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยง/ผู้ป่วยตามระดับอาการ
  2. เพิ่มเวลาให้แพทย์ได้ใช้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น
  3. สร้างความเชื่อมั่น (Trust) ระหว่างทีมหมอครอบครัวและผู้ป่วย
  4. สร้างความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพร่วมกัน ระหว่างทีมหมอครอบครัวและผู้ป่วย