โครงการสถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย : การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ
รับผิดชอบโครงการโดย : ผศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ และ สุภรต์ จรัสสิทธิ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
สนับสนุนทุนโดย : มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
บริหารจัดการโดย : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
บทคัดย่อ
จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทย การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำและอยู่ในกำลังแรงงานยาวนานขึ้น เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม เป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและต่อตัวผู้สูงอายุรวมถึง ครัวเรือน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการรายงานสถานการณ์ในภาพรวมยังขาดการวิเคราะห์ในรายละเอียดที่จำแนกตามกลุ่มอายุย่อย และคุณลักษณะของผู้สูงอายุที่จะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจสถานการณ์และแนวโน้มการทำงานของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันและที่ผ่านมา
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทยจากการสำรวจระดับประเทศช่วงปี 2547 – 2562 โดยจำแนกตามกลุ่มอายุและคุณลักษณะทั่วไปของผู้สูงอายุด้านต่าง ๆ และเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุไทย โดยเป็นการศึกษาเชิงปริมาณใช้ข้อมูลจากการสำรวจระดับประเทศโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ 3 ชุดข้อมูลหลัก ได้แก่ การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (ไตรมาส 3) พ.ศ. 2547 – 2562 การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2549 – 2562 และการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2550 – 2560 โดยจำแนกผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป) เป็น 7 กลุ่มอายุย่อย พิจารณาร่วมกับ ปัจจัยด้านเพศ เขตที่อยู่อาศัย ภาคและจังหวัด ตัวชี้วัดสภาพการทำงานและแนวโน้มที่วิเคราะห์ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน สถานภาพการทำงาน ภาคเศรษฐกิจ อาชีพ ชั่วโมงการทำงาน รายได้จากการทำงาน การทำงานนอกระบบ และ เหตุผลในการไม่ทำงานหรือหยุดทำงานของผู้สูงอายุ รวมถึง ตัวชี้วัดเกี่ยวกับ ความเพียงพอของรายได้ ความต้องการทำงาน สถานการณ์ทำงาน สถานะสุขภาพ และระดับความสุขของผู้สูงอายุ
ผลการศึกษาโดยสรุป พบว่า ในปี 2562 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังคงทำงานมีประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.5 เพศชายสูงกว่าเพศหญิง เขตชนบทสูงกว่าในเขตเมือง ภาคเหนือมีสัดส่วนสูงที่สุด ขณะที่กรุงเทพฯ มีสัดส่วนที่ต่ำที่สุด การทำงานของผู้สูงอายุลดลงอย่างมากในช่วงอายุ 60 – 64 ปี และ 65 – 69 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง และการช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง การทำงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม (ร้อยละ 60.3) ภาคการบริการและการค้า (ร้อยละ 32.1) และภาคการผลิตร้อยละ 7.6 ส่วนใหญ่เป็นการทำงานในอาชีพ ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร (ร้อยละ 58.7) พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า (ร้อยละ 18.7) ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ 8.3) ผู้สูงอายุภาพรวมมีการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 40 ชั่วโมง รายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 11,877 บาท และการทำงานของผู้สูงอายุถึง ร้อยละ 88.0 เป็นการทำงานนอกระบบ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ทำงาน มากถึงร้อยละ 67.4 หรือกว่า 2 ใน 3 มีเหตุผลจาก “ชรา” อีกร้อยละ 15.4 และ 10.4 มีเหตุผลจาก “การทำงานบ้าน” และ “การเกษียณอายุหรือพักผ่อน” โดยในช่วงอายุ 60 – 64 ปีที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงแข็งแรง มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ไม่ทำงานมีเหตุผลจากความ “ชรา” และอีก 1 ใน 5 มีเหตุผลจาก “การเกษียณอายุหรือพักผ่อน” การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน สถานภาพการทำงาน ภาคเศรษฐกิจ อาชีพ รวมถึงตัวชี้วัดสภาพการทำงานของผู้สูงอายุอื่น ๆ พบว่าค่อนข้างมีความแตกต่างเมื่อจำแนกตามเพศ เขตที่อยู่อาศัย รวมถึงภูมิภาค และจังหวัด
สำหรับแนวโน้ม ในช่วงปี 2547 – 2562 พบว่า อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานมีแนวโน้มลดลงในทุกช่วงอายุ สถานภาพการทำงานมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมาก การทำงานในภาคเกษตรลดลงขณะที่การทำงาน ภาคการบริการและการค้าเพิ่มสูงขึ้น อาชีพพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน รายได้เฉลี่ยจากการทำงานมีแนวโน้มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ชั่วโมงการทำงานมีแนวโน้มลดลง สัดส่วนแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อย เหตุผลในการไม่ทำงานของผู้สูงอายุจากเหตุผลชรามีแนวโน้มลดลง ขณะที่เหตุผลเกษียณอายุหรือพักผ่อนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน (ทั้งในภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มอายุ 60 – 64 ปี)
ความเพียงพอของรายได้ ความต้องการทำงาน สถานะสุขภาพ ความสุข และแหล่งรายได้หลักของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาร่วมในการกำหนดแนวทางสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุไทย
ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษา 4 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ ควรมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนของประเทศเพื่อติดตามและประเมินผลการเปลี่ยนแปลงของสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทยอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมการทำงานควรมุ่งเน้นในกลุ่มอายุ 60-64 ปี เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก การปรับทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับความชรา การเกษียณอายุและพักผ่อนซึ่งนำไปสู่การหยุดทำงานในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป (โดยเฉพาะ 60 – 64 ปี) เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญและควรมีการพิจารณาขยายความครอบคลุมของระบบประกันสังคม และการให้ความคุ้มครองแรงงานแก่แรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีแรงงานสูงอายุเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่เป็นแรงงานในระบบ
คำสำคัญ: การทำงานของผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุ แนวโน้ม ฐานข้อมูล