แชร์ไปยัง
Facebook

ส่งไปยัง
Email

ดาวน์โหลดไฟล์

สุขภาพช่องปากเป็งองค์ประกอบพื้นฐานของสุขภาพและความผาสุขโดยรวมของร่างกายและจิตใจ แต่ในประชากรไทย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยกลับพบปัญหาสุขภาพช่องปากหลายด้าน เช่น

– ปากแหว่งเพดานโหว่ ความพิการแต่กำเนิด พบ 1-2.5 คนต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน เป็นภาวะที่ส่งผลให้เด็กดูดกลืนนมได้ยากลำบากจนเกิดอาการสำลักนม มีภาวะเติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไป มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ การได้ยิน ภาษาและการพูดออกเสียง และปัญหาการสบฟันผิดปกติ ซึ่งต้องได้รับการรักษาในทันที
– เด็กวัย 5 ขวบ กว่า 75% มีฟันผุเฉลี่ยคนละ 4.5 ซี่ ได้รับการรักษาสุขภาพช่องปากเพียง 1 ใน 4 และพบว่าเด็กในชนบทมีปัญหาฟันผุมากกว่าเด็กในเมือง และกรุงเทพมหานคร
– ฟันผุสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการ โดยพบว่าเด็กที่มีฟันผุมากกว่า 4 ซี่ เสี่ยงต่อการมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ 1.4 เท่า และเสี่ยงที่จะเตี้ยกว่าเกณฑ์ 1.5 เท่าของเด็กที่ฟันผุน้อยกว่า 4 ซี่

จากปัญหาดังกล่าว มีแนวทางส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่เด็ก ๆ ควรได้รับ โดยความร่วมมือของทุกภาพส่วนที่ดูแลด้านสุขภาพ ดังนี้

ในครอบครัว รพสต. ให้ความรู้กับพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู จัดหาอุปกรณ์และส่งเสริมการดูแลตั้งแต่ฟันซี่แรก เพื่อให้เกิดความเคยชินในชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น การเช็ดคราบ การแปรงฟัน ไปจนถึงการไปตรวจสุขภาพของฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำ

ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์สำหรับแปรงฟัน มีการจัดเก็บที่สะอาด เพื่อให้เด็ก ๆ ได้กำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน สนับสนุนการตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบฟลูออไรด์ หรืออุดฟันอย่างง่ายให้เด็กที่ฟันผุ รวมทั้งเปลี่ยนของว่างที่หวานจัดเป็นขนมไทยหวานน้อยหรือผลไม้ และขอความร่วมมือกับร้านค้าทั้งในและนอกโรงเรียนในการจำหน่ายอาหาร ของว่าง และขนมที่ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพช่องปาก

ที่มา ทพญ.จินตนา อึ้งชูศักดิ์