สารจากประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์
“การพัฒนาต้องมีเป้าหมายร่วม และความต่อเนื่องทางสติปัญญา”
คือข้อความที่กลั่นจากประสบการณ์และปัญญาของท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อาจารย์ยังบอกพวกเราต่อไปว่า คนจะมีปัญญาก็เมื่อไม่แสวงหาอำนาจ เราสามารถส่งผลต่อการพัฒนาถ้าเราเข้าไปมีส่วนร่วม และขยายการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ
พวกเราที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติได้ยึดถือปัญญาเหล่านี้ เป็นแนวปฎิบัติพันธกิจของมูลนิธิ นั่นคือ การทำให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพบนฐานความรู้ (Building knowledge-based health systems)
ในฐานะที่เป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร เรามีสถานะเป็นเพียงกลไกเล็กๆ ในระบบที่ใหญ่และซับซ้อนของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ แต่เราก็ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ที่พูดถึงสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ชี้ให้เห็นว่าความรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสามเหลี่ยมดังกล่าว บางคนอาจจะชอบใช้คำว่า “หลักฐาน” (Evidence) แต่ที่นี่ เราเห็นว่าการใช้คำว่า “ความรู้” (Knowledge) น่าจะมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า และยังกว้างกว่า เพราะรวมถึงสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากหลักฐานจากการวิจัย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เราเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญและสร้างประโยชน์มากกว่าเพียงการเผยแพร่ความรู้
เมื่อแรกถือกำเนิดขึ้น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเป็นกลไกในการส่งเสริมการวิจัย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย พันธกิจดังกล่าวเป็นผลมาจากการจัดตั้งคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในช่วงประมาณปี 2529 คณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติทำงานใกล้ชิดทั้งกับฝ่ายนักวิจัยและฝ่ายผู้กำหนดนโยบาย ในขณะเดียวกันเราตระหนักว่าผู้ที่ต้องการความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายที่ดี มีมากกว่าเพียงผู้มีอำนาจในกระบวนการนโยบายที่เป็นทางการเท่านั้น
ระบบสุขภาพไทยเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีประสบการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการใช้หลักฐานทางการวิจัยและความรู้จากบุคลากรสาธารณสุขในระดับต่าง ๆ เพื่อนำมากำหนดนโยบายหรือปรับทิศทางนโยบายทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่มีการตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนตะวันตกแห่งแรก ต่อเนื่องมาถึงการตั้งกระทรวงสาธารณสุขซึ่งนับเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว ระบบสุขภาพของไทยมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีพลวัตที่ต่อเนื่อง และในกระบวนการเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการที่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและเหตุปัจจัยภายนอกทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้สุขภาพของคนไทยได้พัฒนาดีขึ้นตามลำดับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเห็นพลังจากจุดแข็งของระบบสุขภาพไทยดังกล่าว และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและพลวัตดังกล่าว โดยตระหนักดีว่ากลไกทางการ รวมไปถึงผู้ที่เข้ามามีอำนาจ กำหนดและขับเคลื่อนนโยบายย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อความต่อเนื่องของความคิดสติปัญญาและการเรียนรู้
ในช่วง 40 ปีที่มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการมา เราได้เห็นประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ มีความสนใจและกระตือรือร้น ต้องการมีส่วนร่วม เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการกำหนดทิศทางและชะตากรรมของระบบสุขภาพไทยในระยะยาว ประสบการณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ประชาชนในระดับชุมชนได้มามีส่วนร่วมผ่านการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข และแสดงให้เห็นชัดเจนถึงศักยภาพของความเป็นผู้นำธรรมชาติ ที่รอโอกาสที่จะสร้างสรรค์ชุมชนของเขาให้ดีขึ้น และแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ รวมทั้งความเห็น และความห่วงใย สู่ข้อเสนอแนะเพื่อทำให้ระบบสุขภาพไทยในภาพใหญ่ดีขึ้นตามลำดับ
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือความเข้มแข็งของบุคลากรสาธารณสุขจำนวนกว่า 100,000 คนที่มีอยู่ในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ กระจายทำงานอยู่ในอำเภอและตำบลต่าง ๆ และส่วนใหญ่อยู่นอกกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงใหญ่ บุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำตามคำสั่งหรือพยายามทำตามนโยบายที่กำหนดขึ้นจากส่วนกลาง แต่สามารถริเริ่มสร้างสรรค์ใช้ ประสบการณ์และความคิดภายใต้ธรรมชาติของระบบ ซึ่งเอื้ออำนวยให้เขาเหล่านั้นมีความเป็นตัวของตัวเองและโอกาสสังสรรค์ ใช้สิ่งที่เรียกว่าความรู้ปฏิบัติมาช่วยทำให้การดำเนินการตามนโยบายหรือเป้าหมายใหญ่บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติมั่นใจว่า สิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาระบบบนฐานความรู้และหลักฐานทางวิชาการเกิดขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการมีส่วนร่วมของผู้เล่นเหล่านี้ในระบบสุขภาพ
รูปแบบการทำงานของมูลนิธิฯ ปรับเปลี่ยนและปรับปรุงมาเป็นลำดับในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แต่หลักการและเป้าหมายสุดท้ายไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือการทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม การสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่าย การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
เราจะยังคงเล่นบทในฐานะส่วนประกอบเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพไทยและทำตัวเป็นตัวช่วยที่สำคัญ แต่เนื่องจากเราเป็นเพียงกลไกเล็ก ๆ ในระบบใหญ่ที่สลับซับซ้อน จึงพยายามหาจุดเชื่อมต่อที่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการทำงานและการสื่อสารเข้าสู่ระบบใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาสังคมหรือผู้เล่นอันกว้างขวางในระบบสุขภาพ เราจะมุ่งมั่น ไม่อยู่กับที่ ปรับเปลี่ยนและหาวิธีทำงานที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงของภาวะผู้นำในระดับสูง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศย่อมเป็นอนิจจังและเป็นธรรมชาติ
ในโลกปัจจุบันมีผู้พยายามนิยามด้วยอักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัว เอามาเรียงเป็นคำใหม่ว่า “VUCA” (volatile, uncertain, complex, ambiguous) คือเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่คาดหมายได้ยาก และยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “Disruptive technologies” คือเทคโนโลยีที่มากระทบจนไม่อาจทำแบบเดิม ๆ ได้ ธุรกิจต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ วิธีทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ ไม่อาจอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ แต่ต้องพร้อมเผชิญสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ทั้งที่มาจากคน มาจากธรรมชาติ และมาจากเทคโนโลยี
มูลนิธิฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจเช่นเดียวกันว่าเราจะต้องไวต่อสิ่งท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ต้องมองไปข้างหน้าและปรับตัวเพื่อให้ทันหรือนำหน้าการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาคีนโยบายสาธารณะและการพัฒนาระบบสุขภาพสามารถมีส่วนร่วมและเรียนรู้ร่วมกันได้โดยมองความท้าทายและปัญหาสำคัญที่รอเราอยู่ข้างหน้า ไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เรามองเห็นความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันสร้างระบบสุขภาพซึ่งสร้างประโยชน์สร้างผลตอบแทนทางสุขภาพอย่างแท้จริง มากกว่าระบบที่คุ้มครองความเสี่ยงทางการเงินที่จ่ายเงินเพียงเพื่อให้เข้าถึงบริการแบบเดิม ๆ
เรามองเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้ระบบสาธารณสุขมูลฐานที่ดีอยู่แล้วดียิ่งขึ้น มีทั้งการเชื่อมโยงกับชุมชนและการดูแลสุขภาพประชาชนที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ จากหน่วยบริการใกล้บ้านถึงระบบบริการระดับสูง
เรามองเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเป็นเครื่องมือสำคัญ ปรับวิธีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช้รูปแบบตายตัว แต่เปลี่ยนได้ผ่านการทำความเข้าใจความต้องการและมุมมองของฝ่ายต่าง ๆ
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิตอลจะมีผลอย่างมากมายต่ออนาคตของระบบสุขภาพไทย เป็นทั้งตัวช่วยให้ทำงานแบบใหม่ และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างประชาชนกับระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของบุคลากรในระบบบริการด้วยกันเอง ผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งพื้นที่จริงและพื้นที่เสมือน
ประชาสังคม นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบาย จะสามารถมาคิดและทำงานร่วมกันได้มากขึ้น คู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของระบบธุรกิจ ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจสังคม
โจทย์สำคัญหนึ่งที่จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ คือความเข้มแข็งของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากฐานราก พาให้ระบบสุขภาพไทยเป็นระบบสุขภาพที่มองเห็นองค์รวม และมีการทำงานร่วมกันนอกเหนือจากเพียงการทำให้เกิดบริการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น
สิ่งที่สร้าง Disruption ไม่ได้มีเพียงเทคโนโลยี แต่รวมถึงความคิดและวิธีคิดที่ผู้คนส่วนใหญ่รับรู้และกำลังคิดร่วมกัน เช่น ความเป็นธรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างความสุขมากกว่าเพียงรายได้ การมีสิทธิที่จะมีสุขภาพดีมากกว่าเพียงการมีสิทธิรักษาฟรี การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อม หลายอย่างอาจเห็นได้ในช่วงที่สังคมทั่วโลกต่อสู้เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด
พลังที่สร้าง Disruptive จะต้องนำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังบวกในการที่จะทำให้ระบบเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพียงเปิดโอกาสให้มีการทำกิจกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีความรู้และโอกาสที่ดีกว่า
มูลนิธิฯ เชื่อว่าองคาพยพและกลไกต่าง ๆ ในสังคมไทยมีความยืดหยุ่นปรับตัว และกลไกเชิงนโยบายและการพัฒนาโครงสร้างเชิงระบบก็เช่นเดียวกัน จะไม่แข็งตัวแต่จะสามารถใช้ประโยชน์จากพลังบวก มองหาแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงานให้ดีขึ้น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติหวังว่าจะได้เป็นภาคีที่มีประโยชน์ในกระบวนการการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และจะพยายามทำตัวและสร้างพื้นที่ที่ทุกฝ่ายจะได้มาคิดและเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงสติปัญญาจากฐานรากสู่การกำหนดนโยบายในภาพรวม ด้วยความเชื่อมั่นในคุณภาพของคนไทย สังคมไทย ในการสร้างและใช้ความรู้ เพื่อทำให้ระบบสุขภาพไทยที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน สร้างสุขภาวะคนไทยให้ดียิ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
ผลึกความคิดสู่การจัดการองค์กร
ต้นทางของความคิดในการก่อตั้งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
ในช่วงทศวรรษ 2520 ประเทศไทยต้องเผชิญทั้งปัญหาไฟสงครามคือสงครามเวียดนามและกัมพูชา ปัญหาสาธารณสุข
จากผลึกแห่งความคิดสู่การจัดตั้งองค์กร
ประมาณปี พ.ศ. 2530 นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประเวศ วะสี พร้อมกลุ่มแพทย์และนักวิชาการทางด้านสุขภาพ
พร้อมด้วยพลังสมอง แต่พร่องปัจจัยสนับสนุน
ในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2530 มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ซึ่งดำเนินโครงการระบาดวิทยานานาชาติ(International Clinical Epidemiology Network)
ยุคของการรวมตัว
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536 ยุบคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ (ในช่วงเวลาต่อเนื่องกับการจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับและมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการคนแรก
ความมุ่งมั่นในภารกิจ
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ดำเนินการจดทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยกำหนดวัตถุประสงค์สำคัญ ๆ ประกอบด้วย
- สนับสนุนการประชุมและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อยุติในนโยบายสำคัญ ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาสาธารณสุขของชาติ
- สนับสนุนให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญในการใช้วิจัยสาธารณสุขเพื่อพัฒนาระบบงานและบริการสาธารณสุข
- ส่งเสริมและฝึกอบรมให้เกิดผู้เชี่ยวชาญในด้านเสริมสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า ทั้งในและนอกประเทศ
- เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณสุขประโยชน์
- ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ คณะกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติได้มีมติให้ทบทวนและแก้ไขวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- บริหารจัดการเพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ และใช้ความรู้ในการพัฒนาระบบสุขภาพในเรื่องที่มีความสำคัญสูง
- สนับสนุนให้สังคมและกลุ่มต่าง ๆ ในระบบสุขภาพ ตระหนักและให้ความสำคัญในการใช้ความรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจ การวางแผน และการดำเนินงาน
- ส่งเสริมและฝึกอบรมให้เกิดผู้มีความรู้ความชำนาญในการบริหารจัดการเพื่อสร้างระบบสุขภาพที่อยู่บนฐานของความรู้ ทั้งในและต่างประเทศ
- ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยร่วมมือกับองค์การกุศลอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายสาธารณประโยชน์
- ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
โดยมีภารกิจสำคัญในการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์คือ การจัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชนและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในแต่ละเรื่อง โดยใช้องค์ความรู้เป็นตัวกลางในการสื่อสาร และการสร้างเครือข่ายและร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อร่วมสร้างและร่วมใช้ประโยชน์จากความรู้