สร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ส่งเสริมประโยชน์ด้านสุขภาพ

ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย
เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

มสช. ชวนคิด | 20 กุมภาพันธ์ 2566 | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม

ข้อมูล – เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เรารับรู้สถานการณ์ตระหนักและเห็นความเป็นจริง

จากที่เราได้เคยพูดคุยชวนคิดกับ ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในประเด็น “ความเป็นธรรมทางสุขภาพ หรือ Health Justice”
(คลิกเพื่ออ่านบทสัมภาษณ์เดิม)

ซึ่งหากจะเป็นจริงได้ ต้องย้อนกลับมามองที่กระบวนการพยายามใช้ประโยชน์จากข้อมูลในด้านสาธารณสุขทั้งระดับบุคคลและระดับประชากร เพื่อการคาดการณ์ปัญหาและเชื่อมโยงไปสู่การดำเนินการป้องกัน-รักษาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนการทำงาน สิ่งสำคัญที่คุณหมอได้เคยชวนคิดไว้คือ ในประเทศไทยหลายองค์กรมีข้อมูลสุขภาพในระดับปฐมภูมิ แต่ยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ทั้งจากระบบรายงานหรือการสำรวจจนไปถึงการนำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เอง และการนำข้อมูลในระดับพื้นที่ทั้งหมดเชื่อมโยงกับข้อมูลในระดับพื้นที่ด้วยกัน เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบสุขภาพระดับชาติ กระบวนการนี้ยังคงต้อง สร้างกลไกให้หลายองค์กรหน่วยงานหันมาสนใจประโยชน์ และทำให้สามารถเข้าไปใช้ข้อมูลได้มากขึ้น โดยพัฒนาจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วและที่จะมีมาเพิ่มเรื่อย ๆ ในอนาคต

          เราได้มีโอกาสกลับมาพูดคุยกับคุณหมออีกครั้งถึงสถานการณ์ด้านระบบข้อมูลที่เกิดขึ้นในไทย ทั้งในการขับเคลื่อนงานการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์และวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล วันนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง

          สำหรับประเทศไทย มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ทว่าทุกวันนี้การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านได้สะดวกยังมีน้อย และการเข้าถึงข้อมูลก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก และยังไม่เกิดกระบวนการที่เอื้อให้เกิดการนำไปใช้โดยง่าย ทั้งในแง่ของชุดข้อมูลที่ต้องมีการจัดการสกัดเอาข้อมูลความเป็นส่วนตัวออกเหลือเพียงข้อมูลกลุ่มหรือข้อมูลภาพรวมซึ่งมีต้นทุนในการจัดการ ในมุมของผู้ให้ข้อมูลยังมีความกังวลสับสนในข้อกฎหมายการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ ทั้งในระดับประชาชนซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลขั้นต้น และระดับหน่วยงาน องค์กร ที่เป็นผู้ถือข้อมูล จึงยังไม่เกิดการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่

ความกังวลและข้อกังขาในการให้ / เผยแพร่ข้อมูล อุปสรรคหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล

          เรื่องนี้คุณหมอมีความเห็นว่า ปัจจุบันมีข้อมูลมีอยู่ในหลาย ๆ ที่ แต่ละแห่งไม่มั่นใจว่า ข้อมูลที่มีอยู่จะหลุดไปที่ไหนไหม และสร้างปัญหาให้กับเราผู้ถือข้อมูลหรือไม่ ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้าและร่วมแก้ปัญหา ทำให้ขาดโอกาสสร้างความก้าวหน้าและประโยชน์ของประเทศถดถอยลง จึงต้องสร้างโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนกัน จะเป็นการเรียนรู้ว่าองค์กรอื่น ๆ ทำอย่างไร ในเรื่องที่เรากังวลสามารถจัดการอย่างไรได้บ้าง รวมถึงวิธีคิดวิธีมองเชิงเทคนิค ซึ่งนำมาสู่การสร้างกลไกการใช้ข้อมูลที่มีอยู่มากขึ้น ข้อมูลมากมายที่มีอยู่ถ้าไม่ถูกนำไปใช้ก็ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ในอีกทางหนึ่ง ผู้ให้ข้อมูลไม่เห็นการนำมาใช้ประโยชน์ ก็ไม่เห็นความสำคัญของการให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย ถ้าเขาเข้าใจว่าได้มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร และมีโอกาสนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์เองได้ด้วย ผู้ให้ข้อมูลก็จะยินดีให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เราด้วยเช่นกัน

แต่ข้อกังวลสำหรับคนไทยยังมีอยู่
          คุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ในมุมมองของคนทั่วไป มีสองมุมมองที่ยังคงต้องสร้างความเข้าใจใหม่ คือ ความปลอดภัยของข้อมูล (Security) และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy) สองเรื่องนี้คล้ายกันแต่ต่างกัน ความปลอดภัยของข้อมูลคือบางอย่างเราไม่อยากให้คนรู้แต่ถูกขโมย/แฮกออกไปไปใช้ในทางที่ผิด แต่ความเป็นส่วนตัวคือ ข้อมูลบางอย่างเป็นเฉพาะตัวของเรา เราไม่อยากให้คนเข้ามารู้ เราไม่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลของเราได้ ซึ่งระดับของความเป็นส่วนตัวก็มีหลากหลายตามความสมัครใจของแต่ละบุคคล

          Open Data มีหลักการวิธีการว่า ข้อมูลมีหลากหลายมิติ และระดับของข้อมูลก็ซับซ้อน บางอย่างเป็นส่วนตัว เป็นข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถเปิดเผยได้ บางอย่างสามารถนำมาเปิดเผยเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ แต่การจะนำข้อมูลมาเผยแพร่ต้องมีกระบวนการจัดการข้อมูลให้นำมาใช้ได้ในแต่ละระดับ มีวิธีการจัดการเอาความเป็นส่วนตัวออก คัดกรองข้อมูลก่อนนำไปเผยแพร่ ซี่งเป็นเรื่องของเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ในการจัดการ และส่วนของการอนุญาตให้ใช้ข้อมูล เช่น ในงานวิจัยบางเรื่องที่อาจมีข้อมูลในเชิงรายละเอียดหลายระดับ ในอีกมุมหนึ่งคือการชักชวนให้คนนำข้อมูลใปใช้ประโยชน์ ข้อมูลที่เผยแพร่จึงต้องใช้ได้ง่าย มีระบบเข้าถึงได้

กรณีนี้คุณหมอได้ยกตัวอย่างข้อมูลสุขภาพเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น การเข้ารับบริการทางสุขภาพ ถ้าเราเอาข้อมูลที่เป็นตัวตน ชื่อ นามสกุล ช่องทางติดต่อที่สามารถทำให้เข้าถึงตัวผู้เข้ารับบริการออก เราจะยังมีข้อมูลอื่น เช่น ความถี่ในการเข้ารับบริการ หรือประเภทของการเจ็บป่วยที่ต้องไปรับการรักษา ซึ่งเป็นข้อมูลด้านสุขภาพที่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์หาสาเหตุหรือพัฒนาการบริการด้านสาธารณสุขได้

“ข้อมูลในระดับกลุ่ม เช่น ข้อมูลสุขภาพในระดับพื้นที่ เป็นข้อมูลที่สามารถนำมาเผยแพร่ได้มีลำดับชั้นของความปลอดภัยของข้อมูล ในมุมมองของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เราอยากชวนให้ภาคีเครือข่ายมาคิดร่วมกัน มาร่วมขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ด้วยกัน มาทำระบบให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์เฉพาะวงการสุขภาพเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย”

          ถึงตรงนี้คุณหมอได้เล่าภาพใหญ่ในระดับโลกว่า วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันข้อมูลเปิดนานาชาติ (International Open Data Day) สนับสนุนโดย องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ร่วมกับประเทศต่าง ๆ  เพื่อการขับเคลื่อนกลไกระบบสุขภาพให้เป็นจริงในแต่ละประเทศ ซึ่งมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเองก็มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดการตัดสินใจทางนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านสุขภาพของของประเทศโดยใช้ข้อมูลจริงมาเป็นฐาน ปัจจุบันมี โครงการวิจัยหัวข้อ “ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการวิจัยและนโยบายในประเทศไทย” หรือ “Open Data Catalytic Initiative for Research and Policy Support in Thailand” ที่กำลังขับเคลื่อนงานส่วนนี้อยู่เป็นหลัก

           เราจบบทสนทนาในวันนี้ด้วยการคาดหวังว่า คนไทยจะมีความเข้าใจในวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลที่มากขึ้น ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ต้องเริ่มต้นจากเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และสร้างการมีส่วนร่วม ร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสุขภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสุขภาพในประเทศไทย

          เส้นทางนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการพิจารณาประเด็นที่สำคัญและหาทางออกร่วมกัน ทั้งในเรื่องของ ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ทุนการพัฒนาระบบ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของข้อมูล ความเข้าใจด้านกฎหมาย ที่ยังต้องคุยกันในก้าวต่อไป ในบทบาทของตนเอง ทั้งภาครัฐ องค์กรหน่วยงานต่างๆ และภาคประชาชน ที่ตระหนักถึงความสำคัญ เพราะข้อมูลเป็นทุนสาธารณะที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันสร้าง และภาครัฐ องค์กร หน่วยงานต่างๆ ต้องช่วยกันปกป้องข้อมูลนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางที่เหมาะสม