ระบบข้อมูล : รากฐานของการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ

ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย

เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

มสช. ชวนคิด | 25 พฤษภาคม 2565 | ฐาณัฒรวีย์ ศรีสยาม

หากจินตนาการถึงสังคมที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะนึกถึงอะไรได้บ้าง สังคมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย สังคมที่ปลอดภัย อากาศที่บริสุทธิ์ สิทธิในการเรียน และหนึ่งในนั้นคือการได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย

เรามีสถานพยาบาลทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ บัตร 30 บาท ให้กับประชากรไทยทุกคนเป็นพื้นฐาน ส่วนใครจะมีสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิราชการหรือจ่ายประกันสุขภาพเป็นทางเลือกส่วนตัวพิเศษตามความสามารถ ก็ได้รับการบริการแตกต่างกันไป ไม่นับประชากรแฝง แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ… แต่ไม่ใช่แรงงานทุกคนที่ได้รับการรักษาดูแลยามเมื่อป่วยไข้

จะดีกว่าไหมหากทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิในการเข้าถึง การดูแลสุขภาพที่เป็นธรรม-เท่าเทียมกัน ?

คนไทยทุกคนมี “สิทธิ 30 บาท” ในการเข้ารับการรักษายามเจ็บป่วย เป็นภาพสะท้อนที่เพียงพอหรือไม่สำหรับการก้าวไปให้ถึง “ความเป็นธรรมทางสุขภาพ หรือ Health Justice” เป็นคำถามที่เราอยากได้คำตอบและเห็นภาพใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง

เช้าวันนี้ฝนตกพรำ เรามีนัดพูดคุยกับ ดร. นพ. ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่สำนักงานของมูลนิธิฯ เราได้ยินมาว่าคุณหมอมีงานยุ่งมาก และวันนี้เรามีเวลาสัมภาษณ์เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้นก่อนที่คุณหมอจะเข้าประชุมคณะกรรมการมูลนิธิฯ ตามกำหนด

เราจึงทำการบ้านหนักพอสมควรเพื่อเตรียมความพร้อมใช้ช่วงเวลา 1 ชั่วโมงนี้ให้มีคุณค่าที่สุดกับเรื่องที่ยังคงเป็นคำใหม่ในสังคมไทย

ปัจจุบัน คุณหมอปิยะ หาญวรวงศ์ชัย เป็นอาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้รับแต่งตั้งโดยองค์การอนามัยโลกให้เป็นสมาชิกของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศเกี่ยวกับบุคลาการสุขภาพ (Health Workforce Information Reference Group – HIRG) และดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมการพัฒนาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเป็นที่ปรึกษาให้แก่ องค์กรการกุศล และหน่วยราชการ เช่น CMB Foundation และ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.)

เราตื่นเต้นกับการได้พูดคุยกับบุคลากรคุณภาพท่านหนึ่งของประเทศไทย ฝนช่างรู้จักกาลเทศะ หยุดตกพอดิบพอดีก่อนเวลานัดเล็กน้อย ทำให้บรรยากาศในวันนี้ชุ่มชื่นเย็นสบาย เมื่อถึงเวลานัดคุณหมอเดินตรงมาด้วยรอยยิ้มสว่างเต็มใบหน้าและประกายแววตาที่เป็นมิตร

ความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Health Justice)
มากกว่าสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

เมื่อถามถึงความหมาย / นิยาม / ภาพ ของความเป็นธรรมทางสุขภาพ ในมุมของคุณหมอว่าเป็นอย่างไร คุ ณหมอได้ชวนย้อนมองระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันว่า ประเทศไทยนั้นได้ให้ความสำคัญด้านสุขภาพในเชิง public health มากมีการขยายโรงพยาบาลลงไปในชุมชน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีการขยายบริการและโอกาสการดูแลสุขภาพ ผ่านตัวกลางซึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นภาพใหญ่ที่ปรากฏในแง่ค่าเฉลี่ยว่ามีการทำงานเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่เรื่องของบัตรคนจน เรื่องคนชรา คนพิการ เหล่านี้เน้นในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยแล้วเป็นหลัก

แต่โอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพโดยภาพรวม ยังคงมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนบางส่วนเข้าไม่ถึงการบริการ การรักษาที่ทันท่วงทีเราจะยังเห็น
ช่องว่างของการรับบริการที่ไม่เท่ากัน การรอคิว การรักษาสำหรับสิทธิ 30 บาท ที่ต้องรอนาน คนที่มีเงินจ่ายจะมีโอกาส มีทางเลือกได้รับการดูแลที่มากกว่าและดีกว่าในสถานพยาบาลเอกชน ในบทบาทของการเข้าถึงคนด้วยโอกาสจริง ๆ จึงอาจยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้มีมุมของการทำงานเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ยังไม่ขึ้นมาถึงระดับนโยบายที่ชัดเจนเช่นกัน

“เราอยากมองไปมากกว่าการรักษา ทำอย่างไรให้คนมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคน้อยลง ป่วยน้อยลง ด้านการแพทย์ทางสุขภาพเองมีหลายเรื่องที่ต้องมอง ในส่วนงานที่ลดความเหลือมล้ำเองมอง Health Justice หรือ ความเป็นธรรมทางสุขภาพ ที่ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์แต่ต้องพูดถึงกระบวนการด้วย ในแง่ของการจัดการที่มีความเป็นธรรมเข้าถึงการบริการและทุกคนมีบทบาทในการกำหนดได้ ซึ่งยังเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนประเด็นนี้เชิงนโยบายและระบบที่ มสช. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น”

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health: SDH) ซึ่งหมายถึง สภาพแวดล้อมที่บุคคลเกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิตอยู่ ไปจนถึงระบบซึ่งกำหนดเงื่อนไขในชีวิตประจำวัน อาทิ นโยบายและระบบเศรษฐกิจวาระการพัฒนา บรรทัดฐานทางสังคม นโยบายสังคมและระบบการเมือง

แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหา หลายครั้งคนไม่สามารถเลือกป้องกันตนเองจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ได้เช่น เรื่องฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือหาอุปกรณ์ป้องกันได้ด้วยความจำเป็นในการดำรงชีวิตหรือรายได้ที่ชัดเจนที่สุดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหยุดงานแล้ว Work From Home ได้เพราะต้องไปทำงานรายวัน หยุดงานเพียง 1 วันก็กระทบกับรายได้แล้ว

ความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Health Justice) จึงไม่ใช่แค่มิติของสิทธิการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ แต่ยังรวมถึงการป้องกันโรค(Prevention) ด้วยซึ่งต้องมองไปถึงการป้องกันปัจจัยเสี่ยงในมิติต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชากร

คุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Health Justice) จึงมีทั้งเรื่องของ 1) การทำอย่างไรให้ทุกคนในทุก สถานภาพทางสังคมมีศักยภาพในการป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยงได้มีองค์ความรู้มีขีดความสามารถ มีทรัพยากรพอสมควร 2) ทำอย่างไรให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และ 3) ถ้าคนจำเป็นต้องเจอกับ
ความเสี่ยง ทำอย่างไร ให้เกิดการเจ็บป่วยไม่สบาย หรือเสียชีวิตน้อยลง คือเป็นผู้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เพิ่มศักยภาพในการดูแลตัวเอง เมื่อต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคแต่ก็สามารถป้องกันตนเองได้ดูแลตนเองจัดการกับโรคได้เช่น ได้รับฝุ่นเพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แต่ป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้

ในภาพใหญ่ของระบบความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Health Justice ) จึงเป็นการจัดสภาพแวดล้อมโดยรวมทั้งหมด ทั้งในเชิงนโยบาย เศรษฐกิจ และกลไกการจัดการ ปัจจุบันในบทบาทของ มสช. จึงเน้นให้เกิดความรู้ในสังคมเพื่อมาขับเคลื่อนเรื่องนี้

ถ้ามีอะไรที่เรามองไม่เห็นหรือนับไม่ได้เราก็จะไม่ให้ความสำคัญ

ในบทบาทของนักวิชาการด้านสาธารณสุข คุณหมอปิยะเป็นผู้ให้ความสนใจกับเรื่องของข้อมูลเป็นพิเศษ เราจึงสอบถามถึงความสำคัญของระบบข้อมูลสุขภาพ คืออะไร สำคัญอย่างไร สะท้อนอะไรได้บ้าง คุณหมอได้ให้คำตอบที่ชวนให้คิดตามว่า

มีคนกล่าวว่า “if you can not count, it doesn’t count”1 หมายถึง ถ้ามีอะไรที่เรามองไม่เห็นหรือนับไม่ได้เราก็จะไม่ให้ความสำคัญกับมัน แม้เป็นมุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แต่สามารถนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงในการพัฒนาระบบสาธารณสุขได้ดี

“ข้อมูล – เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เรารับรู้สถานการณ์ตระหนักและเห็นความเป็นจริง” คุณหมอกล่าวและยกตัวอย่าง

“ถ้าเราสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่เราสนใจเฉพาะอายุขัยเฉลี่ยโดยภาพรวมของประชากรอยู่ที่ 75 ปี แต่เราจะไม่รู้ว่าผู้ชาย ผู้หญิง มีค่าเฉลี่ยต่างกันกี่ปีหรือหากลึกลงไปในรายละเอียด เราจะไม่รู้ว่าประชากรที่เชียงใหม่กับที่นราธิวาสเมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ มีอายุขัยเฉลี่ยต่างกันอย่างไรในภาพระดับจังหวัด ถ้าเราไม่ลงในรายละเอียด เราก็จะไม่รู้ว่าจริงๆ มีความเหลื่อมล้ำไหม ทั้งนี้ข้อมูลไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลขอย่างเดียว ข้อมูลเป็นทั้งในเชิงคุณภาพได้

เราจะหยิบจับข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างไร ?

“อย่างง่ายที่สุดคือการเอาข้อมูลมาจัดการ เพื่อให้กระบวนการทำงานมันง่ายขึ้น เร็วขึ้น” คุณหมอกล่าว เช่น ระบบการบริหารจัดการในโรงพยาบาลตั้งแต่ลงทะเบียน ห้องตรวจ จนถึงรับยา ทำนัด ถ้าข้อมูลคนไข้แต่ละรายเชื่อมโยงกันดีการรับบริการก็จะสะดวกขึ้น

ในภาพที่ใหญ่ขึ้นมา ในระดับจังหวัด ยกตัวอย่างการโยกย้ายคนไข้ จากการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลส่งต่อไปที่โรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอ จนถึงส่งไปที่
โรงพยาบาลทั่วไประดับจังหวัด เพื่อรับการรักษาขั้นสูงขึ้น ขั้นตอนเหล่านี้ถ้ามีระบบข้อมูลที่เชื่อมกันได้ตลอดทางจะช่วยลดภาระในการจัดการของบุคลากร ทำให้การส่งต่อสะดวกรวดเร็ว

ในมุมของแพทย์ผู้ให้การรักษาเองหากมีข้อมูลประวัติการรักษา หรือมีข้อมูลว่าครอบครัวของคนไข้รายนี้มีประวัติเป็นโรคอะไรมาก่อน ก็จะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจหรือที่เรียกว่า Clinical Decision Making2 ช่วยให้สามารถตัดสินใจได้รอบด้านขึ้น มีโอกาสถูกต้องมากขึ้น และมีความรวดเร็ว

ข้อมูลรายบุคคลและข้อมูลภาพรวมสามารถช่วยในระบบสุขภาพได้ทั้งในคลินิกเอง หรือในด้านการทำงานส่งเสริมป้องกัน (Public Health Decision Making) ซึ่งหมายถึง กระบวนการทางปัญญาและทักษะ ทางสังคมที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ และความสามารถของบุคคลที่จะเข้าถึง เข้าใจ การใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม ส่งผลต่อสุขภาวะที่ดีลดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มพลังอำนาจด้านสุขภาพของแต่ละบุคคล และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ข้อมูลจะช่วยให้การตัดสินใจนี้ฉลาดขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คุณหมอสรุปในเรื่องความสำคัญของข้อมูลว่า “ข้อมูลที่ดีสามารถใช้กลไกกระบวนการทางสถิติมาช่วยในการคาดการณ์” การใช้ข้อมูลที่มีมาคาดการณ์ มาเสริมการตัดสินใจ ทำให้มีโอกาสตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้นไปอีก ในระดับภาคนโยบาย สามารถนำข้อมูลมาคิดการให้บริการทางสุขภาพ (service) จากกระบวนการเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ในอนาคต โดยปรับเปลี่ยนเป็น

รูปแบบกระบวนการที่ไม่ต้องมาหาหมอเพื่อรับการรักษาแบบ 1:1

คุณหมอได้เล่าถึงตัวอย่างการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีระบบการรักษาในอีกรูปแบบหนึ่ง จากที่เป็นการพบแพทย์เพื่อจ่ายยาเป็นการดูแลผ่านระบบส่งข้อมูลรายบุคคลด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น นาฬิกาข้อมือแบบสมาร์ทวอชแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีระบบตรวจจับพฤติกรรมของคนไข้มีระบบการโค้ช มีการเข้ากลุ่มดูแลปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมขึ้น (peer group) เพื่อเป้าหมายทางสุขภาพต่างๆ เช่น
ลดเบาหวาน เป็นต้น
เป็นระบบที่ได้รับการอนุมัติ FDA ซึ่งคล้ายการรับรองจาก อย. ในประเทศไทย และเป็นระบบบริการที่สามารถเบิกประกันได้ รูปแบบนี้เป็นแนวโน้มที่น่าจะปรับใช้กับกลุ่มโรค NCDs ที่เกิดจากพฤติกรรม หรือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต (Mental Health) ได้ในอนาคต เป็นกระบวนการเข้าไปป้องกันก่อนการเกิดโรค (intervention)
ซึ่งนับเป็นรูปแบบใหม่ของระบบสุขภาพ

ข้อมูลจึงจำเป็นต่อการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งใน ระดับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น จนถึงภาพใหญ่ในระดับนโยบายของประเทศ

“ถ้าพูดในภาพรวม การสร้างความรู้เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนภาครัฐน่าจะทำได้มากกว่าในเชิงการส่งเสริม ทั้งนี้ในส่วนท้องที่ท้องถิ่นที่มีชุดข้อมูลเป็นของตนเอง ความฉลาดในการใช้ข้อมูล สามารถช่วยให้เกิดการวางแผน การปรับเปลี่ยนนโยบาย การใช้เงิน การคาดการณ์ปัญหาได้เชื่อมโยงไปสู่การดำเนินการป้องกัน-รักษาที่รวดเร็วกว่า”

แนวโน้มประเทศไทยกับการใช้ระบบข้อมูลสุขภา


เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย ข้อมูลที่พบมีหลายระดับ ทั้งระดับบุคคลและระดับประชากร เช่น ตั วเลขโควิด ตายกี่ราย
ติดกี่ราย ข้อมูลรายงานหลายอย่างเป็นการเห็นในระดับกลุ่มประชากร ซึ่งต่อไปคุณหมอมองว่ามีแนวโน้มที่จะมีข้อมูลระดับบุคคลมากขึ้น และในระดับบุคคลก็มีรายละเอียดแต่ละด้านที่แสดงให้เห็นและหยิบจับมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการมีนวัตกรรมเซ็นเซอร์สุขภาพ เช่น ระดับการเต้นของหัวใจ ค่าความดันโลหิต ค่าน้ำตาลจากการบริโภคในแต่ละวัน จากการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ผ่านสมาร์ทวอช และ สมาร์ทโฟน ที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน “เป็นทิศทางที่แสดงให้เห็นว่าข้อมูลจะเพิ่มเรื่อย ๆ แต่ความท้าทายคือ เรายังไม่มีกระบวนการพยายามใช้ประโยชน์จากข้อมูลในด้านสาธารณสุขมากพอ”

คุณหมอมองว่า ในอนาคต ภาคนโยบายต้องมองเผื่อ เราสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้หลายเรื่อง ปัจจุบันอาจเห็นว่ามีการนำมาใช้บ้างในเชิงธุรกิจกับองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในแง่ของงานสาธารณสุขเรื่องโรคและความเสี่ยง โรค NCDs และ Mental Health ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวัน โรคเกี่ยวกับสุขภาวะทางใจมีโอกาสสูงที่ต้องใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีมาช่วยเสริม เพื่อลดโอกาสเกิด โรคแก่คนที่มีความเสี่ยง สามารถลดหรือชะลอการเป็นโรคได้โดยเฉพาะจาก 3 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลมากด้านสุขภาพทั่วโลก เป็นผลกระทบที่ต้องอยู่กันไปอีก 5-10 ปี

ในคนทุกระดับและช่วงอายุ รวมถึงเรื่องของสังคมผู้สูงวัย เป็นโอกาสที่จะนำ Digital Technology มาเป็นกลไกกระบวนการหรือเครื่องมือที่สามารถดูแลได้ตั้งแต่ต้น เปลี่ยนจากเป็นมากให้เป็นน้อยลง ไม่ต้องไปอยู่ โรงพยาบาลแต่มาดูแลตัวเองอยู่บ้านได้

โครงการหนึ่งของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติที่กำลังขับเคลื่อนในส่วนของระบบปฐมภูมิ Digital Transformation Health Care คือการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระดับชาติให้ผู้บริหารในพื้นที่สามารถเข้าไปใช้ข้อมูลได้มากขึ้น โดยพัฒนาจากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ในแต่ละพื้นที่ ทั้งที่เคยสำรวจไว้แล้วและที่จะมีมาเพิ่มขึ้น เพื่อการมองเผื่อต่อการไปใช้ประโยชน์ในอนาคต

ฟังมาถึงจุดนี้ เราเริ่มสงสัยว่า ประเทศไทยน่าจะมีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนระบบสาธารณสุขและสามารถสร้างให้เกิดระบบความเป็นธรรมทางสุขภาพได้อะไรคือข้อจำกัดที่ทำให้ยังคงต้องพยายามผลักดันให้เป็นจริง

พัฒนาระบบฐานข้อมูลงานใหญ่ที่ยังต้องไปต่อ

คุณหมอได้เล่าต่อว่า ประเทศไทยได้ทำเรื่องระบบข้อมูลที่ดีไว้หลายอย่าง เช่น ระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งในหลายประเทศไม่มีเป็นระบบที่ทำให้สามารถยืนยันตัวตนได้ว่าชื่อนี้เลขประจำตัวประชาชนนี้คือคนเดียวกัน

แต่หากกล่าวถึงมุมของข้อมูลด้านสุขภาพ มีเจ้าภาพในการทำข้อมูลหลายองค์กร แต่ละองค์กรมีหลายชุดข้อมูล แต่ละชุดข้อมูลเองก็มีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งทางด้านเทคนิค (technique) ที่จัดเก็บไม่เหมือนกัน การทำงานข้ามฐานข้อมูลก็มีข้อจำกัดในการเชื่อมต่อข้อมูลมาใช้ได้ในภาพรวม เช่น งบประมาณไม่พอ หรือไม่มีบุคลากรพัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยน และในเชิงการเมือง (political) เช่น กลัวการถูกฟ้อง กลัวว่าอาจนำข้อมูลไปทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ การยินยอมให้เกิดการใช้ข้อมูล ความไม่แน่ใจทางกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการได้ข้อมูลไปแล้วบทบาทขององค์กรนั้นๆ จะลดลงหรือไม่ เป็นปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพในประเทศไทยยังไม่เป็นระบบ ยังไม่มีกลไกการสนับสนุนรวมถึงการเปิดให้ใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์การนำไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งการที่ประชาชนแต่ละคนจะมีข้อมูลสุขภาพของตนเองในมือก็ยังมีข้อจำกัดอยู่

หากจะพัฒนาไปให้ถึงการพัฒนาใช้ Digital Health Transformation ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลที่ต้องเชื่อมโยงกัน เป็นฐานข้อมูลซึ่งหลักๆ เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานของระบบสุขภาพ ซึ่งต้องปรับรูปแบบ (transform) มาเป็นการทำงานที่อาศัยดิจิตอลมากขึ้น แนวโน้มของประเทศไทยน่าจะเป็นการปรับไปสู่การนำเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล (ระบบ back-office) อนาคตควรปรับไปเป็น Medical Care, Medical Service , Mental Health ที่เอา Digital Technology เข้ามากระตุ้นให้เกิดมีผู้เล่น
ในหลายบทบาทที่มากขึ้น

แท้จริงแล้ว “ข้อมูล” เรื่องส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนรวม

ที่ผ่านมามีความพยายามทำเรื่องของการส่งเสริมระบบข้อมูลสุขภาพในหลายมุม พบทั้งเรื่องกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่ไม่เอื้อ ในอีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องของกลไกการแชร์ข้อมูล แบบจับผิด กล่าวคือ ถ้าเราไม่แชร์ข้อมูลเราไม่ทำเท่ากับไม่ผิด (play safe) ประเด็นนี้คุณหมอบอกทางออกว่า

“ต้องแก้ที่แรงจูงใจ กลไกวิธีคิดด้วยว่า เรื่องของข้อมูลเป็นสมบัติส่วนตัวแต่ขณะเดียวกันก็เป็นทุนสาธารณะที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันสร้าง นำมาใช้ให้ออกดอกออกผลร่วมกัน ใช้แล้วไม่ได้หมดไปใช้แล้วสามารถต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมที่สูงขึ้นได้ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวที่ถูกแย่งไป ที่เมื่อถูกนำไปใช้ประโยชน์แล้วจะถูกฟ้องร้อง ต้องแก้ที่วิธีคิดหรือดูเจตนาของการนำข้อมูลไปใช้”

ปัจจุบันมีข่าวการขายข้อมูลส่วนบุคคลทำให้ประชาชนเกิดความกังวล ประเด็นนี้คุณหมอมองว่าเป็นมุมกลับของแนวคิดเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

รัฐต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชนเข้าใจว่าข้อมูลอะไรขโมยได้ข้อมูลอะไรที่ขโมยไม่ได้แต่สามารถให้มีคนรู้หลายคนได้การแก้ปัญหาวิธีคิดนี้จะส่งผลไปถึงเรื่องการปรับแนวคิด ความเข้าใจเรื่องข้อมูลได้

“ความน่าเชื่อถือของข้อมูลเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความท้าทาย ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ถ้ามองในมุมกลับหากมีการใช้ข้อมูลมากขึ้นการทวนสอบข้อมูลให้มีความน่าเชื่อถือก็จะเกิดขึ้นด้วย”

วิธีการแก้ปัญหาต้องทำทั้งในแง่ของกฎหมาย นโยบาย ระเบียบ แรงจูงใจ เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งประชาชนและองค์กรผู้เป็นเจ้าของข้อมูล หรือต้องทำกระบวนการเชิงสังคมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคิดหาแนวทางที่เหมาะสม ตรงนี้คุณหมอมองว่า มีวิธีการหลายอย่างซึ่งต้องทดลองต่อไปประกอบกับมีหลายปัจจัยทับซ้อนในปัญหา ในอนาคตอาจหาจุดคานงัดที่มีประสิทธิภาพได้

สุดท้ายแล้ว…ระบบฐานข้อมูลสุขภาพ
จะสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ
ได้จริงหรือไม่ ?

ย้อนกลับไปที่ตอนต้นว่า แนวคิดของปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ การมองปัจจัยการเกิดโรคและความเจ็บป่วย ต้องมองไปไกลว่าปัจจัยระดับบุคคล ปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสรีรวิทยา หรือปัจจัยเชิงพฤติกรรม ทั้งนี้ต้องพิจารณาปัจจัยองค์รวมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตลอดทุกช่วงอายุของบุคคลนั้นๆ

วันนี้ คนที่ติดบ้านติดเตียงอยู่ที่ไหนบ้าง เราอาจรู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ไหนเราไม่รู้ ถ้าข้อมูลมาไม่ถึงผู้บริหารหรือภาคนโยบาย ก็กลายเป็นความจริงที่มองไม่เห็น คุณหมอได้อธิบายตัวอย่างนี้ว่า

ในเชิงความเหลื่อมล้ำ ตอนนี้มีหลายเรื่องเราก็ไม่รู้ เช่น แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ขึ้นทะเบียนอยู่ที่ไหน สถานการณ์โรคติดต่อเป็นอย่างไร เขาเองก็เป็นกลุ่มด้อยโอกาสด้วย และประโยชน์ไม่ใช่แค่ในเชิงส่วนตัวของเขา แต่ในภาพรวมด้านระบบสุขภาพด้วยบางครั้งข้อมูลบางเรื่องเราไม่ได้คิดถึง เราก็ไม่มีข้อมูล”

ปัจจัยเชิงโครงสร้าง บริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การเข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพ ประเภทงานที่ทำ ระดับความเครียดจากสภาพแวดล้อม ล้วนเป็นข้อมูลที่ส่ง
ผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ สุขภาวะ และความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

จะไปต่อได้ประชาชนต้องตระหนักเห็นประโยชน์ของข้อมูลด้วย

ในทางคู่ขนานของการผลักดันเรื่องระบบข้อมูลสุขภาพ ในระดับประชาชนเองต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ในเรื่องนี้คุณหมอได้ให้แง่คิดว่า “ข้อมูลเป็นของเราและเราสามารถที่จะมีบทบาทในการ

กระตุ้นให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ตั้งแต่การรักษาพยาบาลส่วนตัว การจะทำอย่างไรให้ข้อมูลมาถึงเรา เราต้องเรียกร้อง เราอยากให้สถานพยาบาลใดสามารถเข้าถึงข้อมูลเราได้ เพื่อการรักษาได้ถูกต้อง ไม่ต้องตรวจซ้ำ และในอนาคตหากมีระบบ Digital Health มีเรื่อง Application เราสามารถอนุมัติเองได้ที่จะเอาข้อมูลของเราไปต่อยอด ต้องเริ่มที่วิธีคิดตัวเราก่อนว่า ถ้าไม่มีการนำไปใช้จะเกิดประโยชน์น้อยมาก จะทำอย่างไรให้เกิดพลังให้ระบบสุขภาพด้วยผู้รับบริการเอง และเห็นว่าระบบบริการสุขภาพในปัจจุบันเป็นของทุกคน ทุกคนต้องเข้าถึงได้และรัฐต้องทำระบบกลไกให้เอื้อ คือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวทำให้เกิดความไว้วางใจ เป็นนโยบายสาธารณะ ที่เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์ซึ่งต้องขับเคลื่อนนโยบายเชิงระบบ”

‘Health Justice’ กินความหมายครอบคลุมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ และโครงสร้างของระบบในแต่ละมิติที่ไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ เราจบการสนทนาด้วยการเห็นชัดว่า “ระบบข้อมูลสุขภาพ” เป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหา และจะสร้างให้เกิดแนวทางในการจัดการกับปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ เป็นกุญแจดอกแรกที่จะเปิดประตูความจริง เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพให้เกิดขึ้นได้ในสังคม.

ข้อมูลอ้างอิง

1


that doesn’t count: that doesn’t qualify, isn’t valid, isn’t considered as part of a calculation or assessment
https://www.researchgate.net/publication/328773156_If_you_can’t_count_it_it_doesn’t_count_the_poverty_of_econometrics_in_explaining_complex_social_and_behavioural_change

2



clinical decision making – การตัดสินทางคลินิก เป็นผลลัพธ์ของ กระบวนการคิดอย่างมีวิจารญาณหรือการให้เหตุผลทางคลินิก

ที่พยาบาลใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลข้อมูล โดยอาศัยความเข้าใจปัญหาและบริบท ของผู้รับบริการ ตัดสินใจเพื่อวางแผนการพยาบาล